กพช.เคาะมาตรการกดต้นทุนค่าไฟส่งท้ายปี65

ผู้ชมทั้งหมด 683 

กพช.ไฟเขียว มาตรการกดต้นทุนค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ คาดลดลงไม่ต่ำกว่า 5 สตางค์ต่อหน่วยเริ่มมีผลรอบบิลค่าไฟเดือน พ.ย.นี้ หลังลดเก็บเงินเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ลั่นเตรียมออกมาตรการบังคับ คุมประหยัดพลังงาน หากราคาLNG แตะ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ต่อเนื่อง 14 วัน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันนี้(7 พ.ย.2565) ได้พิจารณาสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและประเทศยูเครนที่ยังไม่มีข้อยุติ ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดโลกมีความผันผวนและปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับสูงจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศทั่วโลก โดยทำให้เกิดการตึงตัวของอุปทานก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมถึงการอ่อนตัวของค่าเงินบาท

กพช. จึงมีมติเห็นชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงานในช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565 อาทิ เช่น มาตรการตามแนวทางการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ ปี 2565 โดยจะหันไปใช้น้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล เพื่อการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ในช่วงที่ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มีราคาแพง แต่หากช่วงที่ LNG ราคาถูกลงอยู่ที่ประมาณ 26-29 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็จะพิจารณาสั่งซื้อมาเก็บสำรองไว้ รวมถึง การจัดหาแหล่งก๊าซฯจากในประเทศทั้งในอ่าวไทยและบนบก ตลอดจนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย(JDA) เพิ่มเติมในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ ให้ได้ปริมาณ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

การเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน (แม่เมาะ) โรงที่ 8 อีก 555 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนระยะสั้นจากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กทั้ง SPP และ VSPP ประมาณ 163 เมกะวัตต์ พร้อมจัดหาน้ำมันดีเซล เพิ่มเติมให้กับโรงไฟฟ้าก๊าซฯ อีกประมาณ 20 ล้านลิตร และเพิ่มนำมันเตา 0.5% สำหรับป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าบางปะกง อีกทั้ง รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มจากลาว เช่น โครงการน้ำเทิน 1 ประมาณ 43 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเทินหินบุน อีก 9.6 เมกะวัตต์ พร้อมนำโรงไฟฟ้าถ่านหิน(แม่เมาะ) โรงที่ 4 กลับมาผลิตไฟฟ้า

“กระทรวงพลังงาน ยังเสนอกพช.เพิ่มเติมว่า เมื่อมีการบริหารจัดการพลังงานช่วงราคาผันผวนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนก็คือ การประหยัดพลังงาน เช่น เปิดแอร์ 27 องศา กำหนดเวลาเปิด-ปิด ป้ายไฟLED ปิดปั๊มหลัง 4 ทุ่ม ห้างสรรพสินค้า ปิดแอร์ก่อนเวลาปิดห้างฯ ประมาณ 30 นาที หรือ  1 ชั่วโมง รวมถึงกำหนดเวลาเปิด-ปิดร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น ซึ่งมาตรการนี้เป็นการขอความร่วมมือ แต่หากช่วงที่ราคา LNG ตลาดโลกไปแตะ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ต่อเนื่อง 14 วัน ก็อาจจะออกเป็นมาตรการบังคับต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมาตรการบริหารจัดการพลังงานฯ แต่ละมาตรการ ได้แก่ สำนักงาน กกพ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เร่งดำเนินการในมาตรการ โดยต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด  ซึ่งที่ประชุม กพช. ได้มอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. ติดตามสถานการณ์ราคาพลังงาน โดยเปรียบเทียบราคา Spot LNG นำเข้ากับราคาเชื้อเพลิงและต้นทุนในแต่ละมาตรการ เพื่อนำมาพิจารณาในการที่จะคงการใช้มาตรการที่มีความคุ้มค่าและเลิกใช้มาตรการที่ไม่มีความคุ้มค่าโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ราคาพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอันจะส่งผลให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการใช้มาตรการต่างๆ แล้ว ให้สำนักงาน กกพ. รายงานต่อคณะอนุกรรมการบริหารจัดการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน (คณะอนุกรรมการฯ) โดยเร็ว และที่ประชุมได้มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ติดตามการดำเนินงานตามมาตรการบริหารจัดการพลังงานในสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน ในช่วงเดือนตุลาคม 2565 – เดือนธันวาคม 2565 อย่างใกล้ชิด และรายงานต่อ กพช. ทราบต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพช. ยังมีมติเห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้า สีเขียว (Utility Green Tariff) ในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีก โดยประกอบด้วย (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการนำใบรับรองการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะกำหนดต่อไป

(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ทั้งนี้ ในการกำหนดองค์ประกอบและโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวทั้งสองรูปแบบ รวมถึงการจัดสรรต้นทุนการให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปที่ครอบคลุมต้นทุนสาธารณะ และวิธีการและเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการ กกพ. จะพิจารณากำกับดูแลภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ให้โปร่งใสและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม

อีกทั้ง กพช. ยังมีมติเห็นชอบการทบทวนการกำหนดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามหลักเกณฑ์การกำหนดโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า ประเทศไทย ปี 2554-2558 โดยให้มีการปรับปรุงข้อความการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(4) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย จากเดิม “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตรา 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เป็น “โดยเรียกเก็บจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 0.5 สตางค์ต่อหน่วย” เพื่อให้ กกพ. สามารถกำหนดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าจากผู้รับใบอนุญาตจำหน่ายไฟฟ้าเป็น 0 บาทต่อหน่วยเป็นการชั่วคราว ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบภาระค่าไฟฟ้าต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน และเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกภาคส่วน

“มาตรการเหล่านี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะมาช่วยกดต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดสุดท้ายของปีนี้ ซึ่งเบื้องต้น น่าจะช่วยให้ค่าไฟลดลงได้เฉลี่ยประมาณ 5 สตางค์ต่อหน่วย น่าจะเริ่มได้ในรอบบิลค่าไฟเดือนพ.ย.นี้ ส่วนค่าไฟฟ้างวดแรกของปี66(ม.ค.-เม.ย.) จะลดได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกกพ. แต่สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ขณะนี้เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าเป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน”