กบน.ส่งสัญญาณเร่งดูดเงินดีเซลเข้ากองทุนฯ หลังราคาตลาดโลกร่วง

ผู้ชมทั้งหมด 1,057 

กบน.ฉวยโอกาสราคาน้ำมันตลาดโลกร่วง เร่งดูดเงินดีเซลเข้ากองทุนฯ ลดภาระหนี้ ตั้งรับเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปี ดันราคาพุ่ง คาดต้องใช้เงินดูแลดีเซล 2-3 หมื่นล้านบาท ดูแลเสถียรภาพราคาปลายปี แย้มมีลุ้นปรับลดราคาขายปลีก หากราคาลดลงต่อเนื่อง

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 มีมติให้เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนฯ 1.15 บาทต่อลิตร เนื่องจากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง (เป็นครั้งที่ 3 ในปี 2565 ที่เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ) โดยจะช่วยให้กองทุนฯ เริ่มมีเงินไหลเข้า 71.10 ล้านบาทต่อวัน

ทั้งนี้ เพื่อเตรียมรองรับกรณีหมดอายุมาตรการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรของกระทรวงการคลัง ในวันที่ 20 พ.ย. 2565 นี้ โดยหากกระทรวงการคลังไม่ต่ออายุลดภาษีดีเซลอีก จะส่งผลให้ราคาดีเซลต้องขยับขึ้นถึง 5 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันราคาดีเซลอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร ดังนั้นการที่กองทุนฯ เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซล จะสามารถนำมาบริหารจัดการไม่ให้ราคาดีเซลขยับขึ้นถึง 5 บาทต่อลิตรได้

สำหรับผลการดำเนินงานของ สกนช. ตลอด 1 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564-ก.ย. 2565 โดยใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยราคาดีเซลรวม 111,540 ล้านบาท ส่วนชดเชย LPG รวม 25,111 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนฯ เข้าสู่ภาวะติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (ณ วันที่18 ก.ย. 2565 ซึ่งติดลบถึง 125,348 ล้านบาท )  โดยสถานะกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 25 ก.ย. 2565 ติดลบรวม 124,216 ล้านบาท โดยมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท   

นอกจากนี้ สกนช. เตรียมพร้อมรองรับทิศทางราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว 4 เดือนตามฤดูกาล (พ.ย.-ธ.ค.-ม.ค.-ก.พ.) ซึ่งคาดว่าต้องใช้เงินกองทุนฯไปชดเชยดีเซลประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าในเดือน ธ.ค. 2565 นี้ จะสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ ส่วนวงเงินกู้จะพิจารณาตามสถานการณ์การใช้เงินในช่วงนั้นๆ ภายใต้กรอบวงเงินที่กู้ได้สูงสุดที่  30,000 ล้านบาท

“สกนช.ยังมีแผนขอขยายกรอบวงเงินกู้จาก 20,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการขอขยายกรอบวงเงินกู้เป็น 150,000 ล้านบาท”

สำหรับประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบัน วันที่ 25 กันยายน 2565 ติดลบ 124,216 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 82,674 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 42,542 ล้านบาท โดยที่มีเงินช่วยเหลือ ด้านราคาก๊าซจากกลุ่มปตท.เข้ามาเติม 1,000 ล้านบาท