ผู้ชมทั้งหมด 629
มติ กบง. ตรึงราคาขายปลีกLPG ถัง 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท อีก 3 เดือน เริ่ม เม.ย.-มิ.ย.2567 ขณะที่เงินกองทุนน้ำมันฯใกล้ชนเพดาน 48,000 ล้านบาท รอลุ้นรัฐบาลจัดสรรงบกลางเสริมสภาพคล่องกองทุนฯหรือไม่
มาตรการตรึงราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ ก๊าซหุงต้ม(LPG) อยู่ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ครบกำหนดสิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2567 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงได้ประชุมเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 เพื่อพิจารณามาตรการดูแลราคา LPG โดยมีมติให้ขยายระยะเวลาตรึงราคาต่อไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือน เม.ย.- มิ.ย. 2567
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า มาตรการตรึงราคา LPG ดังกล่าวยังคงใช้กลไกจากกองทุนน้ำมันเชทื้อเพลิงเข้ามาอุดหนุนราคา แม้ว่ากองทุนฯ จะมีกรอบสำหรับชดเชยราคาอยู่ที่ 48,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบัน (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567) กองทุนฯ ใช้เงินไปแล้ว 47,092 ล้านบาท จึงคาดว่าวงเงินที่เหลืออยู่จะไม่เพียงพอต่อการตรึงราคา LPG จนครบ 3 เดือน
ดังนั้นขณะนี้คงต้องรอว่ารัฐบาลจะนำงบกลางมาช่วยเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ ได้หรือไม่ ทั้งนี้หากได้รับงบกลางมาช่วย ก็ยังไม่สามารถลดราคา LPG ได้ เนื่องจากกองทุนฯ ยังประสบปัญหาการเงินติดลบสูง ประกอบกับปัจจุบัน
“ราคา LPG ตลาดโลก ปัจจุบัน ยังทรงตัวระดับสูงอยู่ที่ 617.50 ดอลลาร์ฯ ต่อตัน ส่งผลให้กองทุนฯมีเงินไหลออกต่อเนื่อง ฉะนั้น คงต้องรอดูว่า กระทรวงพลังงาน จะสามารถของบกลางจากรัฐบาลเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนฯได้ทันหรือไม่ โดยหากไม่ทัน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ก็อาจต้องพิจารณาขยายกรอบวงเงินสำหรับดูแลราคา LPG เพิ่มขึ้นจากที่กำหนดไว้ 48,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกองทุนฯเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ ปัจจุบัน กองทุนฯ ชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 5.53 บาทต่อกิโลกรัม (หรือ 82.95 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม) ทำให้ราคาจำหน่ายเหลืออยู่ที่ 25.87 บาทต่อกิโลกรัม (หรือ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม) ดังนั้นหากไม่ชดเชยราคาLPG จะส่งผลให้ราคาจำหน่ายที่แท้จริง อยู่ที่ 471 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม
สำหรับ สถานะกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 เงินกองทุนฯ ติดลบรวม 99,821 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบรวม 52,729 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม 47,092 ล้านบาท