กบง. มีมติบรรเทาภาระประชาชน พยุงราคาขายปลีก NGV 3 เดือน

ผู้ชมทั้งหมด 325 

กบง. มีมติบรรเทาภาระประชาชน พยุงราคาขายปลีก NGV 3 เดือน ปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2567) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม กบง. ซึ่งมี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติให้นำส่วนต่างต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดจากผลการดำเนินการตามมติ กพช. เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 ในการปรับหลักเกณฑ์การคิดราคาก๊าซธรรมชาติที่เข้าและออกจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ มาช่วยลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานให้กับประชาชนผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) โดยการนำส่วนต่างราคาดังกล่าวมาช่วยพยุงราคาขายปลีก NGV ไม่ให้มีการปรับขึ้นอย่างทันทีจากราคาก๊าซธรรมชาติในช่วงปลายปีที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 16 สิงหาคม – 15 ตุลาคม 2567 โดยมอบหมายให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รับไปดำเนินการและให้รายงานผลการดำเนินการให้ กบง. ทราบต่อไป

นายวีรพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงหลักการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 – 2573 เพื่อสนับสนุนการลงทุนในพลังงานสะอาด โดยมีการทบทวนและปรับหลักการสำหรับผู้ยื่นคำเสนอที่ผ่านหลักเกณฑ์ในรอบแรกที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับการพิจารณารับซื้อเป็นลำดับแรกในปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน สำหรับโควตาส่วนที่เหลือจากการเปิดรับซื้อข้างต้นให้เป็นการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอหลักการการปรับเลื่อนกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP2018 Rev.1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 (ปรับปรุงเพิ่มเติม) ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทุเลาของศาลปกครองกลาง จำนวน 22 โครงการ ทำให้โครงการต้องชะลอการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ กกพ. ไปพิจารณาปรับกรอบระยะเวลาการเข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และปรับเลื่อนกำหนด SCOD สำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมดังกล่าวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ทั้งนี้ ไม่ให้เกินกรอบภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อให้ไม่กระทบต่อแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดของประเทศตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ 30-40% (Nationally Determined Contribution: NDC) ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)