กบง.จ่อถกสัปดาห์นี้ รับมือมาตรตรึงราคาดีเซล-LPG สิ้นสุด 31 มี.ค.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 401 

กบง. จ่อถกสัปดาห์นี้ เตรียมพร้อมรับมือราคาดีเซล-LPG หลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 31 มี.ค.นี้ แย้มเร่งขยับเพดานราคาขึ้นแตะ 32 บาทต่อลิตร จากเดิม 30 บาทต่อลิตร เล็งชงกระกระทรวงการคลัง ปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่ม หลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเฉียด 1 แสนล้านบาท 

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมประชุมในสัปดาห์นี้ เพื่อพิจารณาแนวทางรับมือ หลังมาตรการตรึงราคาดีเซล ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ไม่ให้เกิน 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จะสิ้นสุดวันที่ 31  มี.ค. นี้

เบื้องต้น ในส่วนของการดูแลราคาดีเซลนั้น กระทรวงพลังงานอาจเสนอแนวทางขยับขึ้นราคาเพดานขายปลีกดีเซลจากเดิมกำหนดไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เป็นไม่เกิน 32 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากปัจจุบัน กองทุนฯต้องนำเงินไปชดเชยราคาถึง 4.65 บาทต่อลิตร ขณะที่ยอดการใช้ดีเซลทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านลิตรต่อวัน  

รวมถึง อาจเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาปรับลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดภาระกองทุนฯ เนื่องจากขณะนี้จำเป็นต้องรักษาสภาพคล่องของกองทุนฯ เพื่อสะสมไว้ชำระหนี้เงินต้น หลังจากที่กองทุนฯ ได้กู้เงินก้อนแรก 30,000 ล้านบาท จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะถึงกำหนดชำระเงินต้นครั้งแรกในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน ขณะที่เงินกู้ทั้งหมดที่กองทุนฯ ได้ดำเนินการมาแล้ว ปัจจุบัน มียอดรวมอยู่ที่ 105,333 ล้านบาท

ทั้งนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ล่าสุด ได้กำหนดลดอัตราภาษีฯดีเซลลง 1 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 ม.ค. – 19 เม.ย. 2567 

ฉะนั้น ในที่ประชุม กบง. คาดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเตรียมทางออกนำเสนอ 2  แนวทางควบคู่กัน โดยหากราคาน้ำมันดีเซล ตลาดโลกอยู่ระดับ 100-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทางกระทรวงพลังงาน จำเป็นจะต้องขอให้ กระทรวงการคลัง พิจารณาปรับอัตราลดภาษีฯดีเซลเพิ่มขึ้น  เช่น จากปัจจุบันลดภาษี 1 บาทต่อลิตร เป็น 2 บาทต่อลิตร ควบคู่กับการขยับเพดานราคาดีเซล เพิ่มเป็น 32 บาทต่อลิตร

ส่วนการดูแลราคา LPG ที่ปัจจุบันตรึงราคาไว้ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 จนถึง มี.ค. 2567 เป็นเวลา 1 ปีแล้ว โดยกำหนดกรอบวงเงินที่ กบง. อนุมัติให้ใช้ชดเชยราคาได้ไม่เกิน 48,000 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันใช้ไปแล้ว 46,931 ล้านบาท ฉะนั้นต้องจับตาดูว่า หากจะตรึงราคาต่อไปอีก ทาง กบง.จำเป็นต้องอนุมัติกรอบวงเงินชดเชยราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งก็อาจจะส่งผลต่อสภาพคล่องของกองทุนฯได้ ประกอบกับราคา LPG ตลาดโลก ยังไม่เข้าสู่ช่วงขาลง

สำหรับ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด วันที่ 17 มี.ค. 2567 ติดลบรวมอยู่ที่ 96,270 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน ติดลบอยู่ที่ 49,339 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ อยู่ที่ 46,931 ล้านบาท โดยกองทุนฯ มีเงินไหลออก วันละประมาณ 252 ล้านบาท จากการรับภาระชดเชยราคาดีเซล 251.86 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG ประมาณ 0.97 ล้านบาทต่อวัน