ผู้ชมทั้งหมด 7,443
กทพ.เคาะเส้นทางสร้าง N1 ผ่านม.เกษตรฯเป็นอุโมงค์ใต้ดินลึก 40 เมตร ยาวประมาณ 6 กม.วงเงินลงทุน 3.6 หมื่นล้านบาท เตรียมชงครม.ใหม่อนุมัติ คาดเปิดประมูลได้ปี 69 ก่อสร้าง 5 ปี พร้อมเปิดให้บริการช่วงปี 75
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า กทพ.ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งที่ 2 (สรุปผลการคัดเลือกแนวสายทาง) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางพิเศษ(ด่วน) ขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 2 ส่วนทดแทน (ตอน N1 ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) โดยมีการนำเสนอความคืบหน้าการศึกษาเบื้องต้นที่คัดเลือกแนวสายทางที่ดีที่สุดทั้งทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม คือทางเลือกที่ 2.2 ซึ่งเป็นแนวสายทางที่เหมาะสมที่สุด
โดยรูปแบบการก่อสร้างจะเป็นอุโมงค์ใต้ดินระยะทาง 6.7 กิโลเมตร(กม.) 2 ชั้นซ้อนกัน ขนาดถนน 2 ช่องจราจร ความลึกที่สุดประมาณ 44 เมตรจากผิวดิน มีจุดระบายอากาศ และจุดอพยพ 4 จุด มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับถนนงามวงศ์วาน แนวสายทางจะไปตามแนวถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร เข้าถนนประเสริฐมนูกิจเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 และเชื่อมต่อ E-W Corridor วงเงินลงทุนเบื้องต้นประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นอุโมงค์ทางด่วนใต้ดินสายแรกของประเทศไทย และในอาเซียน ส่วนในเอเชียของประเทศญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการก่อสร้างที่สำคัญเป็นรูปแบบที่เหมาะสม สามารถลดผลกระทบความกังวลของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ได้
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะมีการประชุมรับฟังความเห็นอีกครั้ง เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการก่อสร้าง รวมไปถึงประเมินค่าเวนคืน อัตราผลตอบแทนในการลงทุน และรูปแบบการลงทุน ซึ่งเบื้องต้น กทพ.จะลงทุนเอง โดยใช้รายได้ที่มีมาดำเนินการ หากไม่พออาจจะระดมทุนเพิ่ม
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า กทพ.จะสรุปผลการศึกษาในปี 67 จากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ(บอร์ด) กทพ. ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการ คาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงปี 69 เริ่มก่อสร้างในปี 70 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 และน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 75 ทั้งนี้คาดการณ์ปริมาณจราจรในปีเปิดให้บริการอยู่ที่ 7 หมื่นคันต่อวัน และน่าจะเติบโตถึงประมาณ 1.4 แสนคันต่อวัน
ทั้งนี้โครงการ N1 มีความสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และเป็นการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทางระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออกและตะวันตกของกรุงเทพมหานครให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้น