ผู้ชมทั้งหมด 112
กทพ. สรุปผลคัดเลือกแนวเส้นทางโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ประชาชนเลือกคะแนนสูงสุด แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณกม. 2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ



เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ณ ห้องประชุมพาราไดซ์ ฮิลล์ 1 โรงแรมเกาะช้าง พาราไดซ์ ฮิลล์ ตำบลเกาะช้าง อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และนายดำรงค์ศักดิ์ ยอดทองดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ร่วมเป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 (ผลการคัดเลือกแนวเส้นทางที่เหมาะสม) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด เพื่อนำเสนอผลการคัดเลือกแนวเส้นทางเลือกที่มีความเหมาะสมและรูปแบบเบื้องต้นของโครงการฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งผู้แทนหน่วยงานของรัฐภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และผู้สนใจได้รับทราบ รวมถึงได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อนำมาปรับปรุง ข้อมูลรายละเอียดโครงการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้มีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระ สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจ ร่วมกับการประชุมทางไกล ผ่านโปรแกรม zoom รวม จำนวนกว่า 150 คนเข้าร่วม
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบแนวเส้นทางเลือกของโครงการการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบแนวเส้นทางเลือกของโครงการจะพิจารณาเปรียบเทียบปัจจัยหลักที่ใช้ในการพิจารณาทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยมีการกำหนดค่าตัวคูณ (Multiplier Factor, MF) ของแต่ละปัจจัยย่อย เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบประเมินข้อดี – ข้อด้อยของรูปแบบทางเลือก แล้วนำค่าตัวคูณ MF ไปคำนวณหาคะแนนรวมทั้ง 3 ปัจจัยหลัก ทั้งนี้ รูปแบบทางเลือกที่มีคะแนนรวมสูงสุดจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดที่จะถูกนำไปใช้ในการออกแบบรายละเอียดต่อไป

จากการศึกษาวิเคราะห์คะแนนของทั้ง 4 เส้นทางเลือก จากปัจจัยทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วย ปัจจัยด้านวิศวกรรมและจราจร ปัจจัยด้านเศรษฐกิจและการลงทุน และปัจจัยด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม พบว่า แนวเส้นทางเลือกที่ 1 ได้คะแนน 228.87 คะแนน แนวเส้นทางเลือกที่ 2, 3 และ 4 ได้คะแนน 212.51, 243.25 และ 234.25 ตามลำดับ ดังนั้น แนวเส้นทางเลือกที่ 3 ได้คะแนนรวมมากที่สุด คือ 243.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 300 คะแนน จึงเป็นแนวเส้นทางเลือกที่ได้รับการคัดเลือกว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด เพื่อนำไปศึกษาตามขั้นตอนต่อไป
สำหรับแนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางอยู่บนทางหลวงชนบทหมายเลข ตร.4006 บริเวณกม. 2+840 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด โดยแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปทางทิศใต้ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเข้าสู่พื้นที่ทะเล จากบริเวณด้านทิศตะวันตกของท่าเทียบเรือประมงพื้นบ้านธรรมชาติล่าง จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งตรงไปที่เกาะช้าง ตัดผ่านเส้นทางการเดินเรือ แล้วเชื่อมเข้ากับถนน อบจ.ตร.10026 บริเวณ กม. 5+300 ในเขตพื้นที่บ้านด่านใหม่ ต.เกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด
สําหรับบริเวณจุดเริ่มต้นของแนวเส้นทางที่บ้านธรรมชาติล่างจะตัดผ่านพื้นที่อยู่อาศัยบ้างเล็กน้อย ส่วนในทะเลบริเวณที่ตัดผ่านเส้นทางเดินเรือต่าง ๆ แนวเส้นทางจะยกสูงเพื่อให้เรือชนิดต่าง ๆ สามารถลอดผ่านได้ ส่วนบริเวณชายฝั่งของเกาะช้าง แนวเส้นทางจะยกข้ามพื้นที่ปะการัง ซึ่งมีความกว้างประมาณ 100-150 เมตร โดยจุดสิ้นสุดของแนวเส้นทางที่เกาะช้างจะตัดผ่านพื้นที่นันทนาการ และมีบ้านเรือนที่อยู่อาศัยประปรายไม่หนาแน่น ทั้งนี้แนวเส้นทางเลือกที่ 3 มีระยะทางรวมทั้งสิ้น ประมาณ 5.90 กิโลเมตร
รูปแบบเบื้องต้นของโครงการ ได้แก่ 1.รูปแบบถนนระดับดินของโครงการ ถนนเส้นทางหลัก ออกแบบเป็นทางพิเศษ ขนาด 4 ช่องจราจร (ทิศทางละ 2 ช่องจราจร) มีแบ่งทิศทางด้วยกำแพงกันชนคอนกรีต (Concrete Barrier) มีความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร มีไหล่นอกกว้าง 2.50 เมตร พร้อมรั้วกั้นแบ่งระหว่างถนนเส้นทางหลัก และถนนบริการ ถนนบริการ ออกแบบให้ช่องจราจรมีความกว้าง 3.50 เมตร มีไหล่ในกว้าง 1.00 เมตร และมีไหล่นอกกว้าง 1.0 เมตร
2.รูปแบบโครงสร้างสะพานข้ามทะเลที่เหมาะสม แบ่งออกเป็น 2 ช่วงความยาว
2.1 โครงสร้างสะพานช่วงความยาวพิเศษ เป็นโครงสร้างสะพานที่ออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 200 เมตร เพื่อรองรับการลอดผ่านสำหรับเรือขนาดใหญ่ โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และรูปแบบโครงสร้างสะพานคานยื่นสมดุล (Balanced Cantilever Bridge)
2.2 โครงสร้างสะพานช่วงความยาวทั่วไป เป็นโครงสร้างสะพานที่ออกแบบให้มีความยาวช่วงเสาประมาณ 50 – 60 เมตร โดยมีรูปแบบโครงสร้างสะพานที่มีความเหมาะสม 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบโครงสร้างสะพานคานรูปกล่อง (Box Girder Bridge) และรูปแบบโครงสร้างสะพานคานสมดุล (Balanced Cantilever Bridge)
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลข่าวสารของโครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ www.kochangexpressway.com” ทางเฟซบุ๊ก “โครงการทางพิเศษเชื่อมเกาะช้าง” และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางไลน์ OA “kochangexpressway”