ผู้ชมทั้งหมด 726
กทพ. ลุยพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ นำร่อง 140 ไร่ เขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง เขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มูลค่ารวม 5,104 ล้านบาท คาดเสนอเข้าครม. เปิดให้เอกชนยื่นประกวดราคากลางปี 67 หวังช่วยหนุนรายได้จากธุรกิจนอกเหนือจากการเก็บค่าผ่านทาง
เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมแกรนด์ฟอร์จูน กรุงเทพ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นประธานในการเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) สำหรับการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง และโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
โดยได้เชิญผู้ประกอบการนักลงทุน สถาบันการเงิน ภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายละเอียดของโครงการและนำข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากภาคเอกชนมาพิจารณาประกอบการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามขั้นตอนการเสนอโครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ต่อไป
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า โครงการการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษบริเวณบางโปรง มีพื้นที่ 60 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณ กม. 17 + 300 ของทางพิเศษกาญจนาภิเษก (บางพลี-สุขสวัสดิ์) ซึ่งเป็นทางพิเศษที่มีปริมาณการจราจรสูงและมีการควบคุมการเข้าออกอย่างสมบูรณ์ (Fully Controlled Access) เป็นที่พักริมทางที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ สถานีบริการน้ำมัน ร้านค้า ห้องน้ำ บริการข้อมูลการเดินทาง เป็นต้น โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,324 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 627 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 1,697 ล้านบาท)
สำหรับโครงการพัฒนาและบริหารจัดการที่พักริมทางในเขตทางพิเศษ และ Park and Ride บริเวณข้าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีพื้นที่ 80 ไร่ อยู่บริเวณข้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของการเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค ใกล้เคียงชุมชนการศึกษาขนาดใหญ่และหน่วยงานต่างๆ ใมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นที่พักริมทางและพื้นที่จอดแล้วจร (Park & Ride) อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โครงการมีมูลค่าลงทุนรวมประมาณ 2,780 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 706 ล้านบาท และค่าบริหารจัดการและบำรุงรักษาตลอดอายุโครงการ 2,074 ล้านบาท)
ปัจจุบันทั้ง 2 โครงการ กทพ. อยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการซึ่งจะนำเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการภายในปี 2566 คาดว่าจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประมาณกลางปี 2567 และเริ่มกระบวนการคัดเลือกเอกชนเพื่อร่วมลงทุนทันทีในปี 2567 เริ่มก่อสร้างโครงการต้นปี 2568 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571 สำหรับรูปแบบการลงนั้นเป็นแบบ PPP Net cost ผู้รับสัมปทานเป็นผู้จัดเก็บรายได้ โดยผู้รับสัมปทานอาจเสนอส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ภาครัฐตามที่ตกลงกัน ระยะเวลาในการเช่าสัมปทาน 33 ปี (3 ปีก่อสร้าง 30 ปี บริหาร) ทั้งนี้จากผลการศึกษาในเบื้องต้นคาดว่าจะมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ประมาณ 10% ซึ่งจากการลงทุนพัฒนาทั้ง 2 โครงการจะส่งผลให้ กทพ.มีรายได้ที่นอกเหนือจากการจัดเก็บค่าผ่านทาง (Non-Core)
นายสุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับพื้นที่ของ กทพ.ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้นั้นมีประมาณ 1.7 ล้านตารางวา หรือ 4,250 ไร่ ซึ่งในอนาคตหากการนำร่องพัฒนาใน 2 โครงการที่กล่าวมาข้างต้นประสบความสำเร็จก็จะพิจารณานำเอาพื้นที่ที่เหลืออยู่มาพัฒนาต่อไป เพื่อสร้างรายได้จากธุรกิจ Non-Core ในอนาคต