กทพ. ลุยปรับแบบด่วน N1 ขุดอุโมงค์ลอดใต้แยกเกษตรมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท

ผู้ชมทั้งหมด 13,010 

กทพ. ลุยปรับแบบด่วน N1 ขุดอุโมงค์ลอดใต้ดินตรงแยกเกษตรมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท เปิด 3 แนวทางเลือกให้ประชาคมร่วมตัดสิน คาดสรุปผลการศึกษาสิ้นปีนี้ ก่อนชงครม.ชุดใหม่อนุมัติก่อนเปิดประมูลปี 67 ก่อสร้าง 6 ปี คาดเปิดให้บริการได้ในปี 73

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ณ ห้องอุสาพดี กรมยุทธโยธาทหารบก ถนนพหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ว่า ปัจจุบันการจราจรบนโครงข่ายถนนหลักในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ได้แก่ ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และโครงข่ายถนนโดยรอบ มีสภาพติดขัดคับคั่งเนื่องจากมีปริมาณจราจรเต็มความจุของถนนที่สามารถรองรับได้ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จึงได้มีมติเห็นชอบให้ กทพ. ดำเนินโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และส่วนทดแทนตอน N1 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรและพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร

โดยให้ กทพ. พิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบ และแนวเส้นทางโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 ให้มีความชัดเจน โดยคำนึงถึงความเหมาะสมทางวิศวกรรม ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ระยะเวลาดำเนินการ ความยากง่ายในการดำเนินการผลกระทบกับชุมชน และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งพิจารณาแนวทางหรือมาตรการเพื่อลดผลกระทบด้านการจราจรบริเวณแยกเกษตร ที่มีข้อจำกัดทางด้านกายภาพในปัจจุบัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรดังกล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า กทพ. ได้วางแผนการดำเนินโครงการ เป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ตอน N2 ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก และระยะที่ 2 ส่วนทดแทน ตอน N1 โดยการดำเนินงานในระยะที่ 2 กทพ. ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัทอินเด็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท ดีเคด คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท เอ็นริช คอนซัลแตนท์ จำกัด ให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีระยะเวลาศึกษา มีระยะเวลาศึกษา ใช้ระยะเวลา 510 วัน ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.65- 3 พ.ค.67 และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวม 3 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารของโครงการอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะ  เพื่อนำไปพิจารณาประกอบการศึกษาและพัฒนาโครงการให้มีความเหมาะสมและครบถ้วนสมบูรณ์ ก่อนสรุปผลการศึกษาภายในสิ้นปีนี้ จากนั้นกทพ.จะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในรัฐบาลหน้าพิจารณาอนุมัติโครงการในช่วงกลางปี 67 ก่อนเปิดประมูล คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 68 ซึ่งจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 6 ปี และน่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 73

“โครงการเดิมที่รูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับมีมูลค่าการลงทุนประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจากกทพ.ได้มีการปรับแบบการก่อสร้างเป็นลักษณะอุโมงค์ใต้ดินส่งผลให้มูลค่าการลงทุนเพิ่มเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้แม้ว่าจะใช้งบลงทุนค่อนข้างสูง แต่ผลตอบทางเศรษฐกิจยังดี กทพ.จึงวางแผนการลงทุนเบื้องต้นในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) โดยให้ภาครัฐเป็นผู้สนับสนุนค่างานโยธาบางส่วนเพื่อจูงใจเอกชนให้เข้ามาลงทุน และกทพ.ยังมีทางเลือกในการลงทุนอีกหลายรูปแบบ เพราะกทพ.มีฐานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง ซึ่งอาจจะเป็นในรูปแบบการกู้เงิน หรือการระดมทุนก็ได้ ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับผลการศึกษาว่ารูปแบบใดจะเหมาะสมที่สุด”นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นการศึกษามีแนวทางเลือก 3 เส้นทาง ดังนี้ แนวสายทางเลือกที่ 1 : ทางพิเศษประจิมรัถยา-ถนนพหลโยธิน-แนวคลองบางบัว มีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช เลี้ยวซ้ายไปตามถนนกำแพงเพชร 2 ถึงบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 11 แล้วเลี้ยวขวา และลดระดับลงใต้ดินบริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 ลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต ต่อเนื่องไปตามแนวคลองระบายน้ำด้านข้างซอยเผือกวิจิตร จนถึงถนนรัชดาภิเษกบริเวณใกล้ซอยรัชดาภิเษก 46 เลี้ยวขวาไปตามแนวถนนรัชดาภิเษกถึงแยกรัชดาลาดพร้าว เลี้ยวซ้ายไปตามแนวถนนพหลโยธินฝั่งขาออก เมื่อถึงแยกเกษตรจึงเลี้ยวขวาไปเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor

แนวสายทางเลือกที่ 2 : ทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-แนวคลองบางบัวมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษศรีรัชตัดกับแนวถนนงามวงศ์วาน มาตามแนวเกาะกลางถนนงามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกบางเขน แยกเกษตร ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจจนเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor แนวทางนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้

ทางเลือกย่อยที่ 2.1 จะเริ่มต้นในลักษณะเส้นทางยกระดับจนถึงคลองลาดยาว แล้วลดระดับลงใต้ดินบริเวณด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม ลอดใต้คลองเปรมประชากร ถนนวิภาวดีรังสิต แยกเกษตร และทางเลือกย่อยที่ 2.2 จะมีลักษณะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด ไปจนถึงจุดเชื่อมต่อกับโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor

แนวสายทางเลือกที่ 3 : ทางพิเศษประจิมรัถยา-ต่างระดับรัชวิภาฯ-แนวคลองบางบัวมีจุดเริ่มต้นบริเวณทางพิเศษประจิมรัถยาข้ามทางพิเศษศรีรัช ไปตามแนวถนนกำแพงเพชร 2 ถึงทางต่างระดับรัชวิภา เลี้ยวตัดผ่านซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 ตรงไปตามยังแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกนี้จะมีทางเลือกย่อย 2 แนวทาง ดังนี้

ทางเลือกย่อยที่ 3.1 จะมีลักษณะเป็นทางยกระดับจากจุดเริ่มต้นโครงการ ไปจนถึงทางต่างระดับรัชวิภา จนถึงซอยพหลโยธิน 35 แยก 13 จึงลดระดับลงใต้ดินตรงไปตามแนวซอยด้านหลังตลาดอมรพันธ์ ลอดใต้ถนนพหลโยธิน ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ เพื่อเชื่อมต่อโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N2 เชื่อมต่อ E-W Corridor ทางเลือกย่อยที่ 3.2 จะมีจุดเริ่มต้นเหมือนทางเลือกย่อยที่ 3.1 ลักษณะเป็นทางยกระดับจนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 40/1 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดิน บริเวณซอยวิภาวดีรังสิต 17 แยก 8 แล้วลอดใต้ถนนวิภาวดีรังสิต บริเวณซอยพฤกษ์วิชิต แล้วเลี้ยวซ้ายอ้อมออกไปทางถนนรัชดาภิเษก บริเวณซอยรัชดาภิเษก 48 จนถึงซอยวิภาวดีรังสิต 38 จึงเลี้ยวขวาไปตามแนวทางเลือกที่ 3.1

สำหรับงานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 มีความมุ่งหมายที่สำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการจราจราจรบริเวณแยกเกษตร ถนนงามวงศ์วาน ถนนประเสริฐมนูกิจ และพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษที่เชื่อมโยงการเดินทาง ระหว่างพื้นที่ด้านตะวันออก และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร ให้ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังเป็นการรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการเติบโตของเมืองในอนาคตได้อย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพต่อไป