ผู้ชมทั้งหมด 226
กทพ. จัดยิ่งใหญ่เฉลิมฉลอง “สะพานทศมราชัน” เชิญคนไทยร่วมงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” 10-19 ม.ค.68 พร้อมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง 26 ม.ค.นี้ สร้างประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งในชีวิต ก่อนเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรจริงปลาย ม.ค.นี้
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ. ) เปิดเผยว่า กทพ.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างสูงสุด จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสะพานทศมราชัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความปราบปลื้มแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่าในพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนี้ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและสร้างประวัติศาสตร์ก่อนการเปิดใช้สะพานทศมราชัน กทพ. จึงกำหนดจัดงาน “มหกรรมสุขเต็มสิบ” ระหว่าง วันที่ 10-19 มกราคม 2568 เวลา 16.00-22.00 น. เป็นเวลา 10 วัน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมสะพานทศมราชัน พร้อมถ่ายภาพและเลือกชมสินค้า OTOP จากชุมชน ภายในงานได้รวมร้านค้าจากชุมชนและพันธมิตรกว่า 50 ร้านค้า
ขอเชิญชวนประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน กิจกรรมเดิน-วิ่งสร้างประวัติศาสตร์ ในวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม 2568 บนสะพานทศมราชัน โดยจะเปิดให้ขึ้นสะพานตั้งแต่เวลา 03.00 น. และเริ่มปล่อยตัวนักวิ่งเวลา 05.00 น. ค่าสมัครเพียง 499 บาท เปิดรับสมัคร ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2568 ผู้สมัคร 10,010 คนแรก จะได้รับเสื้อ Finisher และ Top 100 ที่เข้าเส้นชัย จะได้รับเหรียญที่ระลึก ปี 2530 ปีที่เปิดสะพานพระราม 9 ทันทีหลังเข้าเส้นชัย สำหรับผู้ที่สมัครหลังจากนั้น ของที่ระลึกจะจัดส่งถึงบ้าน ภายใน 30 วันหลังจบงาน
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสะพานทศมราชันสามารถรองรับประชาชนได้จำนวนมาก ประมาณ 1 -2 แสนคน ก็ตาม แต่หลังเปิดให้ลงทะเบียนแล้วจะประเมินถึงความปลอดภัยอีกครั้ง ว่าจะจำกัดจำนวนที่เท่าไหร่ ซึ่งเมื่อ 37 ปีก่อนสะพานพระราม 9 มีประชาชนร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งประมาณ 8 หมื่นคน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า มหกรรมสุขเต็มสิบจะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยทุกคนได้เข้าถึงและเข้าชมสะพานทศมราชันในมุมมองที่ไม่เคยมีมาก่อน กิจกรรมนี้ไม่เพียงเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เดินชม ถ่ายภาพและสัมผัสกับความงดงามของสะพานเท่านั้น แต่ยังเป็นการรวมพลังของความสามัคคีผ่านกิจกรรมเดิน-วิ่ง และการร่วมสร้างประวัติศาสตร์ไปพร้อมกัน กิจกรรมนี้เป็นมากกว่าความสนุกสนาน เพราะสะท้อนถึงความตั้งใจของ กทพ. ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุดให้กับคนไทย ทั้งนี้ยังได้ร่วมกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนในการดูแลประชาชนตลอดการจัดกิจกรรม พร้อมทั้งมีจัดจุดคัดกรอง จุดลงทะเบียนสำหรับประชาชน รวมถึงการประชาสัมพันธ์กฎระเบียบ ข้อบังคับ สำหรับประชาชนที่ต้องการขึ้นไปร่วมกิจกรรมด้านบนด้วย
นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า ส่วนการเปิดให้ประชาชนใช้สะพานสัญจรนั้น น่าจะประมาณวันที่ 28 หรือ 29 ม.ค.นี้ แต่รอยืนยันวันที่แน่นอนอีกครั้ง โดยวันแรกที่เปิดใช้จะมีพิธีปล่อยรถคันแรกขึ้นสะพานในช่วงเช้าด้วย ส่วนการเปิดให้บริการตลอดเส้นทางของโครงการทางด่วนสายพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกนั้น คงไม่เกินสิ้นปี 68 อย่างแน่นอน
ขณะที่การปิดซ่อมสะพานพระราม9 นั้นคงต้องรอให้ประชาชนชินกับการใช้สะพานพระราม 10 ก่อน คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ1 ปี เบื้องต้นประเมินค่าซ่อมไว้ไม่เกิน 500 ล้านบาท ถูกกว่าเดิมที่เคยประเมินไว้ประมาณ 1พันล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันสามารถนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ดำเนินการได้ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
ด้านนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) กล่าวว่า การเปิดสะพานทศมราชันถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคนไทยทุกคน ซึ่งจะช่วยเสริมความสมบูรณ์ให้กับโครงข่ายทางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว และเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งสะพานแห่งนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของ กทพ. ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย แต่ยังได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถันด้วยเทคโนโลยีการก่อสร้างขั้นสูงสามารถรองรับการจราจรได้ถึง 8 ช่องจราจร พร้อมโครงสร้างที่แข็งแรงรองรับแรงลมได้ถึง 270 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก
สำหรับ “สะพานทศมราชัน” เป็นสะพานคู่ขนานแห่งแรกของประเทศไทยที่เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และพื้นที่โดยรอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการฯ ที่ กทพ. เชื่อว่าสะพานแห่งนี้จะไม่เพียงเป็นโครงสร้างสำคัญ แต่ยังกลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่อีกด้วย
โดยการเปิดใช้สะพานทศมราชัน ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ดังนี้
– ทิศทางขาเข้ากรุงเทพฯ สามารถใช้ทางขึ้นบริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ถนนสุขสวัสดิ์ เพื่อใช้งานสะพาน โดยสามารถวิ่งเข้าสู่ทางพิเศษเฉลิมมหานคร มุ่งหน้าบางนา – ดินแดง และทางพิเศษศรีรัช มุ่งหน้าแจ้งวัฒนะ – ถนนพระราม 9 บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่
– ทิศทางขาออกกรุงเทพฯ สามารถใช้ทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช ผ่านจุดเชื่อมต่อเข้ามาที่สะพานฯ บริเวณทางแยกต่างระดับบางโคล่ และลงที่ทางลง บริเวณด่านฯ สุขสวัสดิ์ ไปเพื่อถนนพระรามที่ 2 ได้
นายอิทธิพล สมุทรทอง นักวิ่งระดับตำนาน ผู้เคยสร้างประวัติศาสตร์ในวันเปิดสะพานพระราม 9 กล่าวว่า เมื่อ 37 ปีที่แล้วในปี พ.ศ. 2530 ตนได้ร่วมวิ่งบนสะพานพระราม 9 ในวันที่เปิดใช้งานครั้งแรก ความภาคภูมิใจและความทรงจำในวันนั้นยังอยู่ในใจเสมอ วันนี้การได้เห็นสะพานทศมราชัน ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างยิ่งใหญ่และงดงาม รู้สึกตื่นเต้นและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมวิ่งอีกครั้งบนสะพานแห่งนี้ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่สะพาน แต่เป็นประวัติศาสตร์ที่คนไทย ทุกคนจะได้มีส่วนร่วม จึงขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่งเพื่อสร้างความทรงจำครั้งหนึ่งในชีวิตด้วยกัน