ผู้ชมทั้งหมด 610
กทท. เปิด “ธุรกิจใหม่ท่าเรือกรุงเทพ New Business Model of Bangkok Port” พร้อมลงนาม MOU 2 บริษัทใหญ่ หนุนกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์ ยกระดับการเป็น Hub การขนส่งระหว่างประเทศ ตอบสนองความต้องการนำเข้า-ส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ให้เกียรติเป็น ประธานในพิธีเปิดงาน “ธุรกิจใหม่ท่าเรือกรุงเทพ : New Business Model of Bangkok Port” โดยมี นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย นางกิจจาลักษณ์ ศรีนุชศาสตร์ รองอธิบดีกรมศุลกากร ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผู้ประกอบการในพิธีเปิดงานฯ ณ อาคาร A1 เขตปลอดอากร ท่าเรือกรุงเทพ
พร้อมกันนี้ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. กับบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้าผ่าน เรือลำเลียงและกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางธุรกิจ” และบริษัท บ็อกซ์แมน จำกัด ผู้กระทำการแทนบริษัท Oknha Mong Port ราชอาณาจักรกัมพูชา ภายใต้ชื่อ “การส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ”
นางมนพร กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคม โดยการท่าเรือ แห่งประเทศไทย หรือ กทท. มีนโยบายในการส่งเสริมการสร้างกิจกรรมใหม่เพื่อยกระดับการให้บริการ เพื่อสนับสนุนการค้า การลงทุน อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้นำเข้า-ส่งออก ให้เพิ่มขีดความสามารถ การแข่งขันในเวทีโลกได้มากขึ้น โดยได้เร่งให้ท่าเรือกรุงเทพได้มีโครงการต่างๆ ที่สามารถพัฒนาท่าเรือกรุงเทพเป็น Hub ของประเทศได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างความร่วมมือทางธุรกิจกับภาคเอกชน ให้เป็นไปตามแนวทางที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายไว้ให้ กทท. เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำ ทางราง และทางอากาศในภูมิภาคนี้
ด้าน นายเกรียงไกร ไชยศิริ วงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กทท . มีโครงการความร่วมมือของ 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการท่าเรือพันธมิตร (Chao Phraya Super Port Project) กับบริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการนำเข้าตู้สินค้าขาเข้า โดยเรือชายฝั่ง (Barge) เข้าเทียบท่าที่ท่า 20 G คาดว่าจะมีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มขึ้น 10,000 TUE ต่อปี คิดเป็นจำนวนเงิน 35-40 ล้านบาท
2.โครงการส่งเสริมการนำเข้าและส่งออก และกิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าถ่ายลำ (Transshipment) ผ่านท่าเรือกรุงเทพ ไปยังประเทศที่สามทั้งทางเรือและรถไฟ เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. และบริษัท บ็อกซ์แมน จำกัด ซึ่งเป็นผู้กระทำแทน บริษัท Oknha Mong Port ประเทศกัมพูชา โครงการฯดังกล่าว เป็นประโยชน์ ในการส่งเสริมการพัฒนาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (ทางน้ำและทางราง) รวมทั้งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้แก่องค์กรในระยะยาว และถือเป็นการสนับสนุนนโยบายโลจิสติกส์ของประเทศ (Shift mode)
3.โครงการเขตปลอดอากรท่าเรือกรุงเทพ Bangkok Port Free Zone เป็นการให้บริการใหม่ ของท่าเรือกรุงเทพ บนพื้นที่ดำเนินการ จำนวน 24,000 ตารางเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุน ในการนำเข้า-ส่งออก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากธุรกิจ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าได้ อย่างสะดวก รวดเร็ว สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้อย่างเป็นรูปธรรม เป็นความร่วมมือระหว่าง กทท. กรมศุลกากร หน่วยงานเอกชน (บริษัท สปีดิชั่น ซิกม่า จำกัด) มีรูปแบบการดำเนินงาน คือ กทท. เป็นเจ้าพื้นที่ และเอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการโครงการฯ โดยให้บริการ คลังสินค้า ลานกองเก็บตู้สินค้า สำนักงาน ให้เช่า ห้องจัดแสดงสินค้า ห้องควบคุมอุณหภูมิห้องเก็บสินค้าที่มีมูลค่าสูง
สำหรับกิจกรรมในเขตปลอดอากร ประกอบด้วย การยกเว้นอากรขาเข้า การซื้อขายแลกเปลี่ยน การคัดแยกประเภทสินค้า การบรรจุหีบห่อและการติด ฉลากใหม่ การรวมสินค้า และสามารถจัดเก็บสินค้าได้นาน 2 ปี นอกจากนี้ท่าเรือกรุงเทพยังมีแผนงานที่สำคัญในอนาคตอันใกล้นี้เพื่อสนับสนุนโครงการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันตก ทกท. เป็นท่าเรือกึ่งอัติโนมัติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ ซึ่งได้มีการนำระบบ Semi Automation มาใช้ในการให้บริการขนถ่ายสินค้า
“กทท. เตรียมมุ่งไปสู้องค์กรที่มีสมรรถนะสูง ด้วยการบริหารจัดการ ท่าเรือให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการผู้ลงทุนและผู้ประกอบการด้านการ นำเข้า-ส่งออก เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขนส่งและกระจายสินค้าของประเทศ รวมถึงการขนส่ง ต่อเนื่องหลายรูปแบบ อันเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าและระบบโลจิสติกส์ทั้งภายในและ ในภูมิภาคเพื่อรองรับต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการในอนาคต และองค์กรสามารถเติบโต ได้อย่างยั่งยืน”นายเกรียงไกร กล่าว