กทท.ลงนาม CHEC แหลมฉบัง เฟส 3 ส่วนที่ 2 งานโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมตอกเสาเข็มต.ค. 67

ผู้ชมทั้งหมด 501 

“มนพร” เดินหน้าแหลมฉบัง เฟส 3 ส่วนที่ 2 งานโครงสร้างพื้นฐาน กทท. เตรียมออกหนังสืออนุญาติเข้าพื้นที่ให้ CHEC ส.ค.นี้ พร้อมตอกเสาเข็มต.ค. 67 มั่นใจเปิดให้บริการได้ตามแผนในปี 70

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งในโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนที่รัฐบาลให้ความสำคัญตามแผนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) การที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด หรือ CHEC ได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 เป็นงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โครงข่ายและระบบการขนส่ง มูลค่าการลงทุน 7,298 ล้านบาท ซึ่งต่อยอดจากการดำเนินงานส่วนที่ 1 ซึ่งเป็นงานก่อสร้างทางทะเลที่อยู่ระหว่างเร่งรัดให้กิจการร่วมค้า CNNC ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนด

นางมนพร กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ กทท. กำกับ ควบคุม และดูแลการดำเนินงานในส่วนที่ 2 นี้ ให้สำเร็จลุล่วงตามกรอบเวลา เพื่อให้มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่ให้กิจการร่วมค้า GPC ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ซึ่งถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 ร่วมกับบริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด หรือ  PTT TANK และ บริษัท เชค โอเวอร์ซี อินฟราสตรัคเจอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 และร้อยละ 30 ตามลำดับ ได้ในเดือนพฤศจิกายน 2568 และสามารถเปิดให้บริการท่าเรือ F ได้ภายในสิ้นปี 2570 ซึ่งจะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้นอีก 4 ล้านทีอียูต่อปี รวมเป็น 15 ล้านทีอียูต่อปี จากเดิมที่ระยะที่ 1 และ 2 สามารถรองรับได้ 11 ล้านทีอียูต่อปี

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 นั้นจะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่ง งานระบบถนน งานอาคาร งานระบบสาธารณูปโภค งานท่าเทียบเรือชายฝั่ง และงานท่าเทียบเรือบริการ รวมถึงการวางระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งสินค้าภายในประเทศ เพื่อรองรับการสร้างรางรถไฟเข้าไปถึงบริเวณหลังท่าเทียบเรือ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบรางที่สำคัญที่จะทำให้การขนส่งตู้สินค้าทางรางมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากทางถนนมาสู่ทางรางและทางน้ำ รวมทั้งสนับสนุนการบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีท่าเรือสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงตลอดจนการเป็นท่าเรือที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ทั้งในการดำเนินการก่อสร้างนั้น กทท. คาดว่าจะสามารถออกหนังสือการอนุญาติเข้าพื้นที่ (NTP ) ให้กับ CHEC ที่เป็นผู้รับจ้างได้ภายใน เดือนสิงหาคม 2567 และการดำเนินก่อสร้าง CHEC จะต้องปฏิบัติงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 1,260 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือแจ้งจาก กทท. ให้เริ่มงาน

นายเกรียงไกร กล่าวอีกว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มีการแบ่งงานก่อสร้างหลักภายใต้ความรับผิดชอบของ กทท. ออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเล ดำเนินงานโดยกิจการร่วมค้า CNNC ซึ่งขณะนี้งานถมทะเลในภาพรวมมีความคืบหน้า 37% ล่าช้ากว่าแผน 3.7% ซึ่งต้องเร่งรัดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามแผน โดยทาง CNNC มั่นใจว่าจะสามารถส่งมอบให้กับ GPC ได้ภายในเดือนกันยายน 2567

ส่วนที่ 2 งานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคที่ได้มีการลงนามในวันนี้ ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ วงเงินลงทุน 800 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหาเครื่องมือ พร้อมจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ วงเงินลงทุน 2,500 ล้านบาทโดยงานส่วนที่ 3 และ 4 อยู่ระหว่างการจัดทำร่าง TOR คาดว่าจะสามารถประกาศประกวดราคาได้ภายในต้นปี 2568

ด้าน Mr. Jiang Houliang กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคบริษัท China Harbour Engineering Company กล่าวว่า บริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในงานก่อสร้างท่าเรือทั่วโลก รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศไทยมาอย่างยาวนานด้วยความพร้อมและความเป็นเลิศด้านวิศวกรรมระดับสากล เชื่อมั่นว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ให้เป็นไปอย่างมาตรฐานและสำเร็จลุล่วงตามกรอบระยะเวลาตามสัญญาที่กำหนดได้อย่างแน่นอน

Mr. Wang Haiguang กรรมการผู้จัดการบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนตุลาคม 2567 และมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในโครงการอื่นๆ บริษัทฯ ก็ได้ติดตามและได้ศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นเมกะโปรเจกต์ของไทยที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามที่ผผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้นบริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างโครงการใหญ่ในไทยหลายมีโครงการ หากรวมโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ส่วนที่ 2 ก็จะทำให้มี Backlog กว่า 17,000 ล้านบาท