กกพ.โยนรัฐบาลใหม่ใช้งบอุดหนุนค่าไฟเหลือ 4.25 บาท ตามข้อเสนอเอกชน

ผู้ชมทั้งหมด 17,728 

กกพ. ชี้ ค่าไฟงวด ก.ย.-ธ.ค.66 หากต้องการลดเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย ตามข้อเรียกร้องของ กกร. ต้องรอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเข้ามาสนับสนุน คาดต้องใช้เงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า กรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้มีการปรับลดค่าไฟฟ้างวดสุดท้ายของปีนี้ เดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วยนั้น กกพ.ไม่มีอำนาจใดๆในการนำเงินมาสนับสนุน แต่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่อาจมีการของบประมาณเข้ามาสนับสนุน เพราะ กกพ.ไม่ได้มีงบประมาณในส่วนนี้ ฉะนั้น การจะปรับลดค่าไฟฟ้าลงได้ต้องมีเงินจากรัฐบาลเข้ามาช่วย หรือ ลดหนี้ กฟผ.

“กกพ. ประเมินว่า หากต้องใช้เงินเข้ามาอุดหนุนค่าไฟ คาดว่า การลดค่าไฟฟ้าลงทุกๆ 1 สตางค์ ต้องใช้งบประมาณ 500-600 ล้านบาท โดยหากต้องการให้ค่าไฟลดลงประมาณ 20 สตางค์ อาจต้องใช้เงินประมาณ 1-1.2 หมื่นล้านบาท จึงต้องรอรัฐบาลใหม่พิจารณา”

ทั้งนี้ ที่ประชุม บอร์ด กกพ. ครั้งที่ 34/2566 (ครั้งที่ 862) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟที และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่าเอฟทีขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บจำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยปรับลดลงจากงวดปัจจุบัน (พฤษภาคม – สิงหาคม 2566) จาก 4.70 บาทต่อหน่วยเหลืออยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย 

ส่วนแนวโน้มค่าไฟฟ้าในงวดแรกของปี 2567 นั้น ขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจาก กฟผ.ได้แจ้งว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลาว ลดน้อยลง จะส่งผลต่อการผลิตไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำส่งมายังไทย อาจทำให้การผลิตไฟฟ้าต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเข้ามาทดแทน ขณะที่ราคาก๊าซ LNG ปรับตัวสูง ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น นอกจากนี้ถ่านหินราคาสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากต้องการเปลี่ยนโครงสร้างคำนวนราคาก๊าซ ก็คงต้องใช้เวลา และอำนาจรัฐเข้ามาช่วยตัดสิน ต้องมีกระบวนการ ดังนั้น แนวโน้มค่าไฟฟ้ายังคงต้องรอฟังนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ด้วย