กกพ. แจงเหตุต้นทุนค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย.66 พุ่ง 5.37-6.03 บาทต่อหน่วย

ผู้ชมทั้งหมด 682 

กกพ.เปิดรับฟังความเห็น ต้นทุนค่าFt งวด ม.ค.-เม.ย.2566 ตั้งแต่วันที่ 14 – 27 พ.ย. 2565 ก่อนประกาศใช้จริง ชี้ปรับเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5.37 ถึง 6.03 บาทต่อหน่วย พร้อมวาง 3 ทางเลือกเกลี่ยต้นทุน ยันหากต้องการตึงค่าไฟ รัฐต้องหาเงิน 1.7 แสนล้านบาท มาอุดหนุน ขณะที่สั่งการไฟฟ้าลดอัตราค่าบริการรายเดือน ลดภาระบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็กบรรเทาผลกระทบ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 51/2565 (ครั้งที่ 818) เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มีมติรับทราบภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที) ประจำรอบ พ.ค. – ส.ค. 2565 และเห็นชอบผลการคำนวณประมาณค่าเอฟทีสำหรับงวดเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 พร้อมให้สำนักงาน กกพ. นำค่าเอฟทีประมาณการและแนวทางการจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ. แบกรับในกรณีต่างๆ ดังนี้

กรณีที่ 1 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 224.98 สตางค์ต่อหน่วย  แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย    และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 66.67 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 1 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 81,505 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.03 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 2 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 191.64 สตางค์ต่อหน่วย  แบ่งเป็นเอฟทีขายปลีกประมาณการที่สะท้อนต้นทุนเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย    และเงินทยอยเรียกเก็บเพื่อชดเชยต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงบางส่วน 33.33 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี โดย กฟผ. จะต้องบริหารภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 101,881 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.70 บาทต่อหน่วย

กรณีที่ 3 ค่าเอฟทีเรียกเก็บประจำงวดเดือน ม.ค.- เม.ย. 2566 จำนวน 158.31 สตางค์ต่อหน่วย  โดย กฟผ. จะต้องรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงแทนประชาชนจำนวน 122,257 ล้านบาท ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.37 บาทต่อหน่วย

“หากต้องการใช้ค่าไฟฟ้างวดม.ค.-เมย.66 อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยตามเดิม รัฐต้องหางบประมาณมาอุดหนุนภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงให้กับ กฟผ. ประมาณ 170,019 ล้านบาท ซึ่งภาระดังกล่าวยังไม่รวมค่าเชื้อเพลิงที่กฟผ.แบกรับในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.2565 อีก 34,557 ล้านบาท หรือ รวมแล้ว กฟผ.ต้องแบกรับต้นทุน อยู่ที่ประมาณ 204,576 ล้านบาท”

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ตามผลการคำนวณของ กฟผ. ปรับเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

​(1) การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 เท่ากับประมาณ 67,833 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 3,724 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 64,091 หน่วย หรือเพิ่มขึ้น 5.84%

​​(2) สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก ร้อยละ 54.20 ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 13.81% และ ลิกไนต์ของ กฟผ. 8.46% เชื้อเพลิง ถ่านหิน นำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 6.25% พลังน้ำของ กฟผ.3.48% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.73% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 6.31% และอื่นๆ อีก 6.75%

​​(3) ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค. – เม.ย. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ก.ย.– ธ.ค. 2565 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า และราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นมากจากรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 โดยที่เชื้อเพลิงอื่นๆ มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ดังที่แสดงในตาราง

(4) อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1 – 30 ก.ย. 2565) เท่ากับ 37.00 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งอ่อนค่าลงจากประมาณการในงวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2565 ที่ประมาณการไว้ที่ 34.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐอยู่ 2.60 บาทต่อเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้น 7.75%)

นอกจากนี้ กกพ ในการประชุมครั้งที่ 51/2565 (ครั้งที่ 818) เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2565 ได้พิจารณาทบทวนอัตราค่าบริการรายเดือนที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระหว่างวันที่ 3 – 17 ต.ค. 2565 แล้ว เห็นชอบให้มีการปรับอัตราค่าบริการรายเดือนลดลงสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า 3 ประเภท ดังนี้

(1) ประเภทบ้านอยู่อาศัย ใช้มากกว่า 150 หน่วย​ เดิมเก็บ 38.22 บาท/เดือน​ เป็นเก็บ 24.62 บาท/เดือน

ส่วนประเภทบ้านอยู่อาศัย แรงดันต่ำ อัตรา TOU​  เดิมเก็บ 38.22 บาท/เดือน เป็นเก็บ ​24.62 บาท/เดือน

(2) กิจการขนาดเล็ก แรงดันต่ำ ​​​เดิมเก็บ 46.16 บาท/เดือน เป็นเก็บ ​33.29 บาท/เดือน

(3) กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร อัตรา TOU เดิมเก็บ ​​228.17 บาท/เดือน เป็นเก็บ ​204.07 บาท/เดือน

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะเร่งดำเนินการประสานการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อให้การปรับลดอัตราค่าบริการรายเดือนให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2566 เป็นต้นไป เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตพลังงานให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็กอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กกพ. จึงขอเรียกร้องให้มีการมีการบริหารการใช้ไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถใช้พลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางเศรษฐกิจ ลดการนำเข้า LNG หรือลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วยน้ำมันเพื่อให้สามารถบริหารและสามารถควบคุมต้นทุนราคาเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตราคาพลังงานและฟื้นฟูเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ