ผู้ชมทั้งหมด 401
จากกรณีดาราสาวถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์อ้างตัวเป็นการไฟฟ้า ติดต่อเพื่อคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้าหรือค่าประกันมิเตอร์ แต่ท้ายสุดถูกหลอกจนสูญเงิน 2 แสนบาทนั้น สำนักงาน กกพ. ชี้แจงว่า ขณะนี้มีเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภทที่ยังตกค้างอยู่ 7.3 หมื่นล้านบาทจริง ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายส่งเงินคืนให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1 และ 2 ซึ่งเป็นบ้านอยู่อาศัย และธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อนำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายในช่วงโควิดระบาด ปรากฏว่าตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 จนถึง มิ.ย. 66 มีผู้ใช้ไฟฟ้าที่ยื่นขอรับคืนเงิน 8 ล้านกว่ารายจากทั้งหมด 24 ล้านราย สามารถส่งคืนเงินได้ 1.7 หมื่นล้านบาท จากยอดทั้งหมด 3.3 หมื่นล้านบาท ยังเหลืออยู่อีก 1.6 หมื่นล้านบาทที่ต้องเร่งส่งคืน
ดร.วัลลภ จิวหลง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการมีส่วนร่วมและคุ้มครองสิทธิประโยชน์ สำนักงาน กกพ. กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ใช้ไฟฟ้า 2 ใน 3 หรือประมาณ 15 ล้านราย ไม่มาขอรับเงินคืน เพราะผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นคู่สัญญาเสียชีวิตหรือขายบ้านโดยไม่ได้โอนชื่อ ทำให้ผู้ที่เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ขอคืนไม่ได้ หรือบางคนยังเป็นเจ้าของมิเตอร์แต่ไม่มารับ ดังนั้น สำนักงาน กกพ. จะเร่งหาทางส่งคืนเงิน 1.6 หมื่นล้านบาทให้ครบถ้วนโดยเร็ว โดยขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีชื่อเป็นเจ้าของมิเตอร์ รีบติดต่อการไฟฟ้าโดยตรงเพื่อขอคืนเงินและป้องกันไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้เป็นช่องทางหลอกลวงประชาชน ด้วยวิธีการส่งข้อความหลอกลวงผ่านทาง SMS หรือ LINE ที่มีการสแกนคิวอาร์โค้ด
“อย่างไรก็ตามยังมีเงินค่าประกันไฟฟ้าอีก 6 หมื่นล้านบาทของกลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลาง ใหญ่และกิจการเฉพาะอย่าง หรือประเภท 3 , 4 และ 5 รวม 1 แสนราย ซึ่งจะต้องส่งคืนเป็นลำดับต่อไป ฉะนั้น สำนักงาน กกพ.จะต้องเร่งคืนเงินค่าประกันไฟฟ้าประเภท 1 และ 2 ให้เสร็จสิ้น โดยขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้รับเงินคืน โปรดตรวจสอบสิทธิและลงทะเบียนขอรับเงินประกันการใช้ไฟฟ้าผ่านระบบที่การไฟฟ้าฯ จัดเตรียมไว้ให้ และ สำนักงาน กกพ. จะขอให้การไฟฟ้าฯ แจ้งผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นเอกสารโดยให้ส่งไปพร้อมกับบิลค่าไฟฟ้า เพื่อปิดช่องทางมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์หรือออนไลน์หลอกลวงประชาชน และขอเตือนผู้ใช้ไฟฟ้าว่า หากมีโทรศัพท์หรือ SMS หรือ LINE แจ้งว่า จะส่งคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้าค้าง โปรดอย่าหลงเชื่อ หากสงสัยให้ โทรศัพท์สอบถามสายด่วนของ กฟภ. 1129 กฟน. 1130 และ สำนักงาน กกพ. 1204 หรือ อีเมล์ sarabun@erc.or.th”