กกพ. เสนอ “นายกฯ” ใช้อำนาจรัฐทบทวนนโยบาย Adder และ FiT กดค่าไฟลง 17 สต.ต่อหน่วย

ผู้ชมทั้งหมด 75 

กกพ.เตรียมส่งหนังสือถึง นายกฯ เสนอทบทวนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รูปแบบ Adder และ FiT ในอดีต หวังลดค่าไฟฟ้าลง 17 สตางค์ต่อหน่วย ลดภาระให้ประชาชน 3.3 หมื่นล้านบาท

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกพ. ครั้งที่ 2/2568 (ครั้งที่ 943) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2568 มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบายทบทวนและปรับปรุง เงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท เหลือหน่วยละ 3.98 บาท 

จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่าจะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย หากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์ จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชนอีกทางหนึ่ง 

ดังนั้น กกพ.จึงเสนอให้ภาครัฐ  พิจารณามติ กกพ.เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่เคยเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตามมาตรา 11(12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) อันประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder ที่มีการต่อสัญญารับซื้อไฟฟ้าแบบไม่มีวันสิ้นสุด จนเป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

(1) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ”

โดยหากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ปัจจุบันยังรับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง หน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที ราว 17 สตางค์

ทั้งนี้ จากนโยบายในอดีต ที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีสัญญาผูกพันธ์กับรัฐ 533 ราย คิดเป็นปริมาณไฟฟ้า 3,940 เมกะวัตต์ ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวมีต้นทุนค่าไฟฟ้าสะท้อนเข้าไปในโครงสร้างค่าไฟฟ้า ล่าสุด รอบบิล งวด ม.ค.- เม.ย.2568 อยู่ที่ 0.17 บาทต่อหน่วย หรือ ราว 17 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้า เนื่องจากผู้ประกอบการที่ได้รับการอุดหนุนไปนั้น ได้รับผลตอบแทนการลงทุนไปแล้ว และปัจจุบันเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนถูกลง จึงควรปรับลดอัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าวลง

“ก่อนหน้านี้ บอร์ด กกพ. เคยเสนอวิธีการดังกล่าวไปยังกระทรวงพลังงาน ให้พิจารณาแล้ว เมื่อปี 2565 ช่วงเกิดวิกฤติรัฐเซีย-ยูเครน ซึ่งครั้งนี้เห็นว่า แนวทางดังกล่าวน่าจะถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเพราะจะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ทันที และแนวทางนี้เป็นอำนาจของภาครัฐที่จะดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจ ครม. หรือ มติ กพช. เป็นต้น ซึ่งขึ้นอยู่กับภาครัฐจะหาวิธีดำเนินการต่อไป โดย กกพ.จะนำหนังสือแจ้งให้ ท่านนายกฯ ได้รับทราบถึงแนวทางดังกล่าวในเร็วๆนี้