กกพ.เร่งถกปรับหลักเกณฑ์ฯไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 MW ดันเปิดรับซื้อปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 341 

กกพ. เดินหน้าพิจารณาปรับหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้า สีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ตามมติ กบง. เปิดทางผู้ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการฯ เฟสแรกก่อน คาดเปิดรับซื้อไฟฟ้าได้ภายในปีนี้

มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 เห็นชอบให้มีการปรับหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับ“โครงการผลิตไฟฟ้ากลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง และขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in tariff (FiT) ปี พ.ศ. 2565-2573” หรือ ไฟฟ้าสีเขียว เฟส 2 กำลังผลิตรับซื้อไฟฟ้ารวม 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ, ลม, แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนพื้นดิน หรือ โซล่าร์ฟาร์ม และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมนั้น

แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า จากมติ กบง. ในเบื้องต้นยังมีการกำหนดเปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ในเฟสแรก จะได้สิทธิ์รับการพิจารณาก่อน โดยให้โควตาไว้สำหรับการเสนอขายไฟฟ้าพลังงานลม จำนวนรวม 600 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม 1,580 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือให้เปิดรับซื้อเป็นการทั่วไป

ทั้งนี้ หาก กกพ.พิจารณาผู้เสนอขายไฟฟ้าที่ตกหล่น จากโครงการฯ ในเฟสแรก แล้วพบว่า ยังไม่ผ่านการพิจารณาอีก ก็ยังสามารถใช้สิทธิ์เสนอขายไฟฟ้าในการเปิดรับซื้อเป็นการทั่วไปได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าผู้ที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการฯในเฟสแรก จะมีปริมาณไฟฟ้าเสนอขายมากกว่าจำนวนที่ กบง. เปิดโควตาไว้ ฉะนั้นคาดว่าจะมีผู้ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการในส่วนที่เปิดรับซื้อไฟฟ้าเป็นการทั่วไปเป็นจำนวนมาก

“ขณะนี้ ทาง กกพ. เตรียมพิจารณารายละเอียดว่า จะต้องแก้ไขกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวหรือไม่ เพื่อให้สอดรับกับมติ กบง. แต่เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ได้ภายในปีนี้”

อย่างไรก็ตาม มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อปี 2566 กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2,632 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 1,580 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 1,052 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าพลังงานลม 1,000 เมกะวัตต์ (แบ่งโควตาให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือกในเฟสแรก 600 เมกะวัตต์ จะเหลือสำหรับเปิดรับซื้อทั่วไป 400 เมกะวัตต์), ไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพ 6.5 เมกะวัตต์  และขยะอุตสาหกรรม 30 เมกะวัตต์

ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าตามมติ กพช. เมื่อปี 2565 กำหนดราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ 2.1679 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, ไฟฟ้าพลังงานลม 3.1014 บาทต่อหน่วย ระยะเวลา 25 ปี, ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ 2.0724 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี และไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม รับซื้อ 6.80 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 20 ปี