กกพ.เปิดรับฟังความคิดเห็น โครงการ NPUP เตรียมพร้อมรับซื้อไฟ 2 โครงการใน สปป.ลาว  

ผู้ชมทั้งหมด 363 

กกพ. เปิดรับฟังความเห็น “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณจังหวัด น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว ของ กฟผ.” (โครงการ NPUP) วงเงินลงทุน 26,220 ล้านบาท รองรับไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง 1,400 เมกะวัตต์ กำหนดเสร็จในปี 2571 และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง 897 เมกะวัตต์ เสร็จปี 2574

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความเห็น “โครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าบริเวณจังหวัด น่าน แพร่ และอุตรดิตถ์ เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใน สปป.ลาว ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” หรือ โครงการ NPUP  ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระหว่าง 10-16 ก.ย. 2567

สำหรับโครงการ NPUP ของ กฟผ. จะก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าเฉพาะในฝั่งไทย แบ่งเป็น 2 ระยะ ส่วนการก่อสร้างระบบส่งไฟฟ้าในฝั่ง สปป.ลาว เป็นหน้าที่ของผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) โดยการก่อสร้างโครงการนี้เพื่อรองรับการส่งไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ใน สปป.ลาว  

โดยการก่อสร้างระยะที่ 1 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าหลวงพระบางปริมาณ 1,400 เมกะวัตต์  จะใช้วงเงินลงทุน 21,400 ล้านบาท โดยการเสริมสายส่ง 500 kv บริเวณ น่าน-เด่นชัย (เป็นการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งกำลังไฟฟ้าสู่ภาคกลาง เนื่องจากสายส่ง 500 kv หงสา-น่าน และ 500 kv น่าน-แม่เมาะ 3 ไม่สามารถรองรับกำลังไฟฟ้าได้และไม่สามารถเพิ่มสายส่งจาก สถานีไฟฟ้าน่าน สู่สถานีไฟฟ้าแม่เมาะ3ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านพื้นที่จากความหนาแน่นของชุมชน  โดยการก่อสร้างระยะที่ 1 มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2571

ส่วนการก่อสร้างระยะที่ 2 เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าปากแบง ปริมาณ 897 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนรวม 4,820 ล้านบาท จะก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ท่าวังผา ที่มีการรวบรวมปริมาณกำลังไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา, โรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ปริมาณพลังไฟฟ้าสูงถึง 3,770 เมกะวัตต์  ดังนั้นการตัดสายส่ง 500 kv เชียงฮ่อน-น่าน ลงที่สถานีไฟฟ้าท่าวังผา จะช่วยเพิ่มความเสถียร ( Stability limit) สายส่ง 500 kv หงสา-น่าน รวมถึงหลีกเลี่ยงการก่อสร้างสายส่งเส้นใหม่

นอกจากนี้ การก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ร้องกวาง ยังช่วยเพิ่ม Stability limit สายส่ง 500 kv น่าน-แม่เมาะ 3 และ 500 kv น่าน-เด่นชัย ด้วย อย่างไรก็ตามยังคงต้องนำระบบ Generator Shedding Scheme มาใช้ที่โรงไฟฟ้าหลวงพระบางและ โรงไฟฟ้าปากแบงในช่วงระยะเวลาแรก เพื่อช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านความมั่นคงในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำแทนการก่อสร้างสถานีไฟฟ้า 500 kv ท่าตะโก 2 และหลีกเลี่ยงการก่อสร้างสายส่ง 500 kv เด่นชัย-ท่าตะโก วงจร 5 และ6 ระยะทาง 270 กิโลเมตร โดยการก่อสร้างระยะที่ 2 นี้ มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2574

ทั้งนี้ โครงการ NPUP ดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบการรับซื้อไฟฟ้าจาก โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง และ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำปากแบง ที่บรรจุในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 Revision 1 ในการจัดหาไฟฟ้าจากต่างประเทศ

อีกทั้ง ยังอยู่ภายใต้บันทึกความเข้าใจความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าใน สปป.ลาว (MOU) ระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาล สปป.ลาว ในกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม 10,500 เมกะวัตต์ โดย กฟผ. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจในการรับซื้อไฟฟ้าแล้ว และได้ทำรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติการก่อสร้างโครงการ NPUP ในวงเงินลงทุนรวม 26,220 ล้านบาท