ผู้ชมทั้งหมด 2,186
กกพ.เดินหน้ากำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff) รองรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์เข้าระบบ เตรียมออกหลักเกณฑ์ฯ ม.ค.นี้ ก่อนประกาศอัตราฯ เม.ย.นี้ หนุนเพิ่มขีดแข่งผู้ส่งออก ป้องถูกตั้งกำแพงภาษีกีดกันการค้า
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2566 กกพ.เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ที่เป็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าสีเขียวขนาดใหญ่(Utility Scale) เพื่อตอบสนองให้กับบริษัทที่ดำเนินกิจการการค้ากับต่างประเทศและต้องการยกเว้นภาษี จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas : GHG) ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์(Net Zero GHG)ในปี 2065
เบื้องต้น อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) ได้ผ่านการเห็นชอบในหลักการจาก ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ไปแล้ว โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า(ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก
(2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน(เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ. จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้ จะถูกแบ่งกลุ่ม ตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน ,โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือ ลม เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะมาจากพลังงานนั้นๆ บวกกับใบรับรองฯ และค่าบริการของระบบรวมถึงคืนกำไรให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่แพง
สำหรับกระบวนการออกประกาศอัตรา Utility Green Tariff: UGT นั้น คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566 โดยในช่วงเดือนม.ค.นี้ กกพ. จะออกหลักเกณฑ์การกำหนดอัตรา UGT 1 และ UGT 2 จากนั้น ในเดือน ก.พ.2566 จะให้ทาง 3 การไฟฟ้า(กฟผ.,กฟภ.และกฟน.) เสนออัตรา UGT 1 และ UGT 2 พร้อมเข้าสู่ขั้นตอนรับฟังความคิดเห็น และกกพ.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ภายในเดือนมี.ค.นี้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการประกาศผลรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,203 เมกะวัตต์ ที่จะได้ผู้ชนะในช่วงเดือนมี.ค.นี้เช่นกัน จากนั้น การไฟฟ้า จะประกาศอัตรา UGT 1 และ UGT 2 ได้ในเดือนเม.ย.นี้ เพื่อให้ผู้ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากแต่ละโครงการได้ตามความต้องการใช้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม อีกทั้ง การมีอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว(Utility Green Tariff: UGT) จะช่วยเพิ่มความสะดวกและเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้มีไฟฟ้าสีเขียวใช้อย่างมั่นคง โดยที่ภาครัฐจะทำหน้าที่กำกับดูแลในการจัดหาไฟฟ้าสีเขียวให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ในราคาที่สะท้อนต้นทุน แข่งขันได้ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเบื้องต้นจะมีการออกใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) เป็นผู้การันตี ถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยไม่ต้องลงทุนก่อสร้าง หรือผลิตไฟฟ้าสีเขียวเพื่อใช้เอง