กกพ.หนุนรัฐเปิดซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบ “Direct PPA”

ผู้ชมทั้งหมด 482 

กกพ.เตรียมวางหลักเกณฑ์รองรับนโยบายส่งเสริมซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง “Direct PPA” หวังสร้างจุดแข็งประเทศไทย หนุนใช้พลังงานสะอาดดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ คาดกติกาชัดสิ้นปีนี้ ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส  2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ต้องรอปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใหม่

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ระบุว่า ภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ได้กำหนดกรอบนโยบายเรื่องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้โดยตรง หรือ Direct PPA ออกมาแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ กกพ.จะต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับมติดังกล่าวมาวางแผนจัดทำระเบียบรองรับการดำเนินการให้ถูกต้องเหมาะสม ทั้งเรื่องการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม (Third Party Access),การออกข้อกําหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (PPA Code ) เพื่อกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายระหว่างกัน และการกำหนดอัตราค่าบริการสายส่งไฟฟ้า (Wheeling Charge) เป็นต้น ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับ การไฟฟ้าฯ ให้เกิดความชัดเจนในหลักเกณฑ์การปฏิบัติและต้องปลอดภัย โดยเรื่องนี้จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนภายในสิ้นปีนี้

“ Direct PPA ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เพื่อเตรียมความพร้อมดึงดูดเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติ โดยแสดงความพร้อมของประเทศไทยในการส่งเสริมความต้องการใช้ไฟฟ้าสะอาด(RE 100) รองรับการตัดสินใจย้ายฐานธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เช่น ธุรกิจ Data Center ที่มีความต้องการใช้ RE 100  เป็นต้น“

ส่วนความคืบหน้า การกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) นั้น ในส่วนของ UGT 1 หรือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ไม่เจาะจงโรงไฟฟ้าในการขอรับบริการ (ไม่ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) ที่ประกอบด้วย ค่าไฟฟ้าปกติ (ค่าไฟฟ้าฐานรวมกับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ Ft) บวกค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) 0.0594 บาทต่อหน่วย ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นฯแล้ว ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนรอให้การไฟฟ้าฯ ประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าต่อไป

ขณะที่ UGT 2 หรือ อัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าแบบเจาะจงแหล่งที่มา (ระบุรายชื่อโรงไฟฟ้า) ซึ่งแบ่งอัตราเป็นกลุ่ม A และ B  โดยกลุ่ม A เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากโรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(COD) ในปี พ.ศ. 2568-2570 ในอัตรา 4.5622 บาทต่อหน่วย และกลุ่มที่ 2 เป็นค่าไฟฟ้าที่ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ COD ระหว่างปี 2571-2573 ในอัตรา 4.5475 บาทต่อหน่วยนั้น ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดในบางประเด็นให้สอดรับกับข้อเสนอแนะต่างๆ คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อให้ทันเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามเงื่อนไขโครงการที่จะเริ่ม COD ล็อตแรกช่วงต้นปี 2568

สำหรับความคืบหน้าการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 อีก 3,668.5 เมกะวัตต์ ปัจจุบัน กกพ.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ ใน 2-3 ประเด็น เช่น การห้ามไม่ให้มีการฟ้องร้องหลักเปิดดำเนินโครงการฯ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้จะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ก่อน

การจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 ยังต้องพิจารณาในหลายส่วน เช่น PDP ใหม่ออกมาแล้วจะมีผลกระทบกับโครงการฯ เฟส2​ อย่าางไร และผลการฟ้องร้องต่อศาลฯในคดีพลังงานลม จากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าในโครงการฯ เฟส 1 ที่คาดว่า จะมีคำตัดสินออกมาในเร็วๆนี้ รวมถึงความสนใจเกี่ยวกับ UGT และ  Direct PPA ด้วย

ดร.พูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดสุดท้ายของปีนี้ (ก.ย.-ธ.ค.2567)นั้น  กกพ.อยู่ระหว่างติดตามข้อมูลตัวแปรที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่า Ft อย่างใกล้ชิด ทั้งราคาก๊าซธรรมชาติ ,อัตราแลกเปลี่ยน และการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งในส่วนของราคาก๊าซฯ ถือเป็นปัจจัยบวก เนื่องจากราคา JKM LNG ปรับลดลงอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยคาดว่า ในช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ น่าจะเห็นข้อมูลปัจจัยต่างๆได้ชัดเจนขึ้น

ทั้งนี้ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. คนใหม่ ได้แสดงวิสัยทัศน์การบริหารงาน  โดยมุ่งเน้นการเป็นหน่วยงานแห่งความเชื่อมั่น และไว้วางใจของสังคมในการกำกับกิจการพลังงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Trusted OERC 4 ด้าน ประกอบด้วย

1. Trusted Regulation สร้างความเชื่อมั่นในการกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยการประสานความร่วมมือกับภาคนโยบาย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วยการวางบทบาทสำนักงาน กกพ. เป็นองค์กำกับดูแลกิจการพลังงานภายใต้นโยบาย พร้อมกับจะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้และยกระดับการกำกับดูแลตามภารกิจให้ครบถ้วนและเกิดความยั่งยืน

2. Trusted Research & Innovation ทบทวนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ ขยายเครือข่ายและแลกเปลี่ยนวิธีการและแนวทางการกำกับกิจการพลังงานกับองค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานในต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยร่วมกันกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหล่อหลอมเป็นองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เหมาะสมต่อการกำกับกิจการพลังงานของไทย

3. Trusted Management มุ่งพัฒนาการบริหารองค์กรให้สามารถกำกับดูแลกิจการพลังงานด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ควบคู่กับการยกระดับพัฒนาขีดความสามารถบุคลากรให้ตอบสนองต่อการรองรับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยและสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตอบโจทย์ในทุกภารกิจของสังคมทั้งในวันนี้และวันหน้า

4. Trusted Engagement สร้างการมีส่วนในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานและพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า และสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจต่อพื้นที่ชุมชนอย่างยั่งยืน สื่อสารประชาสัมพันธ์การกำกับกิจการพลังงานอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อมวลชนครอบคลุมทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค