กกพ.ลั่น ไทยไม่เห็นค่าไฟฟ้ากลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยแล้ว

ผู้ชมทั้งหมด 486 

กกพ.ลั่น ไทยไม่เห็นค่าไฟกลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยแล้ว เหตุโครงสร้างไฟฟ้าเปลี่ยนพึ่งพาLNGนำเข้าที่มีราคาแพงมากขึ้น ด้าน ปตท.ชี้ ราคาLNG มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ต่อเนื่อง 2-3 ปี แนะลดนำเข้าก๊าซฯ ช่วยชาติประหยัด ขณะที่ สนพ. เกาะติดราคาพลังงานช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวปลายปีนี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวในการอธิปราย หัวข้อ “วิกฤตพลังงานและแผนของประเทศไทย” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2022 โดยระบุว่า ประเทศจะไม่เห็นอัตราค่าไฟฟ้ากลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยแล้ว เนื่องจากโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไปจากอดีต ที่ไทยเคยพึ่งพาแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศเป็นเชื้อเพลิงหลักกว่า 60% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า แต่ปัจจุบันกำลังการผลิตก๊าซฯในประเทศลดลงจากช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการแหล่งก๊าซฯเอราวัณที่สิ้นสุดสัมปทานลง ขณะที่การนำเข้าก๊าซฯจากเมียนมา ก็มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ประเทศไทยต้องหันไปพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี2565 (ม.ค.-มิ.ย.) ไทย ใช้ก๊าซฯ LNG ผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนเกือบ 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า จากปี 2563 ที่ใช้ก๊าซLNG ผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 18% ซึ่ง LNG ที่นำเข้าในปีนี้ เป็นลักษณะสัญญาระยะสั้น Spot LNG ราว 50% ที่มีราคาแพงมาก และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าปรับสูงขึ้นจากอดีต

“ตอนนี้ มีเรื่องที่น่าเป็นห่วง เรื่องแรก การนำเข้าLNG จำนวน 1 ลำ เราใช้ประมาณ 3 วันหมด ถ้าLNGราคาอยู่ที่ 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็คิดเป็นมูลค่าราว5,000 ล้านบาท หาจำเป็นต้องนำเข้ามาก ก็ไม่มั่นใจว่าเทอมินอลจะเพียงพอรองรับปริมาณLNGได้ระดับใด เรื่องที่สอง โรงไฟฟ้าในประเทศไม่ได้ถูกออกแบบให้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นระยะเวลานาน และเรื่องที่สาม คือคุณภาพก๊าซฯที่ต่างกัน เมื่อรับก๊าซฯจาก LNG ในปริมาณที่มากขึ้น ก็จะเกิดความยุ่งยากในการปรับคุณภาพ”

ทั้งนี้ ระยะยาวประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยมุ่งไปสู่การลงทุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และก็จำเป็นที่ต้องมีเชื้อเพลิงเพื่อซัพพอร์ตซึ่งก็มองว่า ก๊าซฯจะยังเป็นตัวเลือกที่สำคัญอยู่แม้ว่าช่วงนี้จะเป็นตลาดของผู้ขาย รวมถึงประเทศไทยจะต้องมองเรื่องของเชื้อเพลิงสำรองในประเทศ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะที่ปลดระวางของ กฟผ. อาจจะยังต้องเป็นไว้เป็นทางเลือกบริหารจัดการเชื้อเพลิในยามที่เกิดวิกฤตพลังงานรุนแรงขึ้น

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่อยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ราคาLNG ตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอีก 2-3 ปี และ ในปีนี้ ประเทศไทย พึ่งพาการนำเข้าLNG ในสัดส่วนสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้า และประมาณ 15-20% เป็น Spot LNG ที่มีต้นทุนแพงขึ้นมาก ฉะนั้น ถ้าลดการนำเข้า LNG ประหยัดต้นทุนราคาพลังงานลงได้ รวมถึงกรณีที่ภาครัฐเตรียมเปิดให้ยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ก็จะเป็นอีกวิธีการที่จะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งในประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

“ตอนนี้ ราคาSpot LNG ตลาดล่วงหน้าเดือนต.ค.-ธ.ค.นี้ อยู่ประมาณกว่า 50 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ปตท.ก็ดูการนำเข้าตามความเหมาะสม หรือ มีการนำเข้าประมาณเดือนละ 2-3 ลำ ลำละประมาณ 60,000 ตัน ซึ่งโดยรวมปีนี้นำเข้า Spot LNG น่าจะอยู่ที่ 4-5 ล้านตัน สัญญาระยะยาวก็ประมาณ 5 ล้านตัน ปีหน้า ก็น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน”

อย่างไรก็ตาม ทางรอดจากวิกฤตราคาพลังงานในครั้งนี้ ระยะสั้น ทุกภาคส่วนจะต้องรัดเข็มขัดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการประหยัดให้มากที่สุด ส่วนระยะยาว จะต้องจัดพอร์ตเพิ่มทางเลือกการใช้พลังงาน เช่น ภาคอุตสาหกรรม จะต้องลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการใช้พลังงาน พร้อมศึกษาว่าอุตสาหกรรมใดที่มีความแข็งแรงอยู่ ก็ต้องว่างแนวทางสนับสนุนในแข็งแรงขึ้นไปอีก เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนายการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานพลัง(สนพ.) กล่าวว่า วิกฤตพลังงานที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นวิกฤตด้าน “ราคา” แต่ในแง่ของความมั่นคง ไทยไม่ได้เกิดปัญหาการขาดแคลนเชื้อเพลิง และแม้ว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับลดลงบ้าง แต่ทาง สนพ.ยังไม่ไว้วางใจ และจะเฝ้าติดตามสถานการณ์ราคาที่กำลังจะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวในต่างประเทศที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นและส่งผลต่อราคา

โดยแนวทางการรับมือกับราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ก็ได้ดำเนินหลายมาตรการเพื่อบรรเทาผลกระทบ ทั้งการตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 35บาทต่อลิตร ด้านไฟฟ้า ก็บริหารจัดการหันไปใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้ามากขึ้นในช่วงที่ก๊าซฯแพง ขณะเดียวกันได้รณรงค์ในประชาชนและหน่วยงานราชการ ช่วยชาติประหยัดการใช้พลังงานลดลง 20% ในปีนี้

ส่วนระยะยาว กระทรวงพลังงาน ได้เร่งจัดทำแผนพลังงานชาติ ที่จะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้า ก็เป็นอีกทางเลือกที่สำคัญ