ผู้ชมทั้งหมด 1,553
กกพ. รับลูกมติครม. เร่งเดินหน้าคุย กฟผ. กฟน. กฟภ. และ ปตท. หาแนวทางลดค่าไฟเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วย ส่งผล กฟผ. รับเงินภาระหนี้ งวด ก.ย. – ธ.ค. 66 เหลือเพียง 3,000 ล้านบาทจาก 23,000 ล้านบาท
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรกของรัฐบาลชุดใหม่ วันที่ 13 กันยายน 2566 โดย ครม. มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย แล้วนั้น สำนักงาน กกพ. ได้รายงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อทราบมติ ครม. ดังกล่าวแล้ว โดย กกพ. จะเร่งปฏิบัติตามมติ ครม. โดยเร็วเพื่อไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์
“สำนักงาน กกพ. จะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ. กฟน. กฟภ. และ ปตท. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินการให้ตรงตามเจตนารมณ์ในมติ ครม. โดยคาดว่าจะดำเนินการนำเสนอ กกพ. ให้แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้ภายในหนึ่งสัปดาห์หลังจากนี้” นายคมกฤช กล่าว
โดยก่อนหน้านี้ มติที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ครั้งที่ 34/2566 (ครั้งที่ 862) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 จำนวน 66.89 สตางค์ต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเรียกเก็บในงวดอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย และให้มีผลตั้งแต่รอบบิลเดือนกันยายน 2566 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านั้น กกพ. ได้เสนอแนวทางให้กับรัฐบาลพิจารณา 3 อัตรา คือ ลดค่าไฟฟ้าเหลือในอัตรา 4.30 บาทต่อหน่วย 4.19 บาทต่อหน่วย และ 4.10 บาทต่อหน่วย ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้เลือกลดค่าไฟฟ้าเหลือในอัตรา 4.10 บาทต่อหน่วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยอีกว่า จากที่ ครม. มีมติเห็นชอบให้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 4.10 บาทต่อหน่วยนั้นจะส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะได้รับเงินที่รับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 เหลือประมาณ 3,000 ล้านบาท จากเดิมหากอัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วยก็จะได้รับเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องของการกฟผ. โดยปัจจุบัน กฟผ. แบกรับภาระหนี้ที่เกิดจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ถึงเดือนเมษายน 2568 ราว 111,869 ล้านบาท
“การแบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าแทนประชาชนในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2566 แม้จะได้รับเงินคืนมาเพียง 3,000 ล้านบาท แต่จะกระทบต่อสภาพคล่องของกฟผ. อย่างแน่นอน ซึ่งก็ต้องรอดูว่า กกพ. จะหาแนวทางช่วยเหลือกฟผ.อย่างไรเพราะกฟผ.ต้องมีเงินไปชำระหนี้ค่าก๊าซธรรมชาติให้กับปตท. และใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมถึงใช้ในการลงทุน”