ผู้ชมทั้งหมด 1,383
กกพ.เตรียมคำนวนค่าไฟ(Ft) งวดแรกปี67(ม.ค.-เม.ย.) คาดเสร็จกลางเดือนพ.ย.นี้ ก่อนส่งข้อมูลให้ กฟผ.ไม่เกิน 1 ธ.ค.นี้ ชี้แนวโน้มยังขาขึ้น เหตุสงครามต่างประเทศปัจจัยเสี่ยง ดันต้นทุนน้ำมัน-อัตราแลกเปลี่ยน- LNGนำเข้าขยับ 5- 10 สตางค์ต่อหน่วย เผยหากรัฐไม่มีนโยบายดูแลต่อค่าไฟทะลุ 4 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยถึงแนวโน้มค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวด ม.ค.-เม.ย.2567 ว่า ต้นทุนค่าFt ยังเป็นขาขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาสงครามในต่างประเทศ เช่น สงครามอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาน้ำมันดิบและค่าเงินบาท เพิ่มขึ้นราว 5-6 สตางค์ต่อหน่วย รวมถึงยังมีประเด็นเรื่องกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย โดยเฉพาะแหล่งเอราวัณว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนเม.ย.2567 ตามแผนหรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามแผนก็จะส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) เข้ามาเสริมเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันราคา LNG อยู่ที่ประมาณ 17-18 ดอลลาร์ฯต่อล้านบีทียู ซึ่งจะส่งผลรวมต่อต้นทุนค่าFt ในงวดต้นปี2567 รวมประมาณ 5-10 สตางค์ต่อหน่วย
“ต้นทุนค่าไฟ ปัจจุบัน หากไม่ทำอะไรเลย ก็สูงกว่า 4 บาทต่อหน่วยอยู่แล้ว แต่เมื่อมีนโยบายภาครัฐเข้ามาก็ช่วยให้ค่าไฟงวดสุดท้ายของปี2566 อยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ฉะนั้น ก็ต้องรอคำนวณต้นทุนค่าไฟที่ชัดเจนอีกที ซึ่ง กกพ.จะต้องคำนวณให้แล้วเสร็จในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้ และส่งข้อมูลให้ กฟผ.ไม่เกิน 1ธ.ค.นี้ ก่อนประกาศใช้ แต่เบื้องต้นแนวโน้มต้นทุนค่าไฟยังเป็นขาขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดต้นปี2567 ยังมีปัจจัยบวกจากกำลังผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนในลาวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่หลังเกิดพายุส่งผลให้เขื่อนเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นและส่งผลดีต่อกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มทำให้ต้นทุนค่าไฟถูกลง แต่การซื้อไฟฟ้าพลังน้ำก็ยังถือเป็นต้นทุนส่วนน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงหลังที่ใช้ผลิตไฟฟ้า
นายคมกฤช กล่าวอีกว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าในงวดแรกปี2567 จะกลับไปต่ำกว่า 4 บาทต่อหน่วยเหมือนงวดสุดท้ายของปี 2566 ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล เพราะ กกพ.เป็นเพียงหน่วยงานกำกับ มีหน้าที่พิจารณาต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งการจะกดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล รวมถึงการเข้ามาช่วยเหลือของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน เช่น กฟผ. และ ปตท.ด้วย อีกทั้งต้องดูว่า กฟผ.ยังสามารถแบกรับภาระหนี้ยืดออกไปได้อีกหรือไม่ จากปัจจุบันมีภารหนีที่ดูแลแทนประชาชนกว่า 1 แสนล้านบาท