ผู้ชมทั้งหมด 1,788
กกพ.ประสาน “การไฟฟ้า” สำรวจทั่วประเทศดูความพร้อมโรงไฟฟ้าชีวมวลขายไฟส่วนเพิ่มให้รัฐ 400 เมกะวัตต์ ตามมติกพช.ลดผลกระทบแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯต่ำกว่าแผน ก่อนจัดทำหลักเกณฑ์เสนอ กบง. ชี้อัตรารับซื้อควรต่ำกว่าสัญญาเดิม ป้องผลกระทบค่าไฟ คาดเริ่มกระบวนการได้อย่างเร็ว ภายใน 1-2 เดือน
การเปลี่ยนถ่ายการบริหารจัดการแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ล่าช้าจนส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ที่กำหนดปริมาณการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้เชื้อเพลิงก๊าซฯบางส่วนที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของประเทศหายไป
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2565 จึงมีมติให้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม กลุ่มชีวมวล เพิ่มขึ้น 400 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่ลดผลิตกระทบจากปริมาณก๊าซฯที่หายไป โดยมอบหมายให้คณะกรรมการบริการนโยบายพลังงาน(กบง.) ดำเนินการให้เหมาะสม
แหล่งข่าวคณะกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุว่า การรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงชีวมวลเพิ่มเติม 400เมกะวัตต์นั้น เบื้องต้น สามารถดำเนินการได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิมที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับภาครัฐอยู่แล้ว และมีโอกาสที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อขายส่วนเพิ่มจากปริมาณรับซื้อเดิม เช่น กลุ่มโรงงานน้ำตาล ที่มีเชื้อเพลิงชีมวลเหลือใช้ หรือ บางฤดูกาลมีวัตถุดิบเหลือแล้วไม่ได้นำไปใช้ ก็สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าขายเพิ่มได้ หรือ อาจจะเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่สามารถจัดหาวัตถุดิบเพิ่มเติมจากในพื้นที่ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้าขายเพิ่มได้ ก็สามารถดำเนินการได้เช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นในส่วนของโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ใช่โรงไฟฟ้าที่ต้องสร้างขึ้นใหม่
ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้า ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอัตราที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อค่าไฟของประเทศ ซึ่งเบื้องต้นมองว่า ควรเป็นอัตราที่ต่ำกว่าสัญญาPPA เดิม เพราะเป็นการขายไฟฟ้าส่วนเพิ่ม ที่ใช้เครื่องจักรเดิม ไม่ได้เป็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาใหม่ เช่น หากเป็นโรงไฟฟ้า SPP อัตราค่าไฟฟ้าก็น่าจะอยู่ในระดับ 2 บาท ถึง 2 บาทกว่า เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า หากเป็นอัตราที่แพงเกินไปก็อาจต้องไปพิจารณาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นแทน รวมถึงต้องเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าชีวมวลแต่ละแห่งถึงความเป็นไปได้ด้วย
“เรื่องนี้ ทาง กพช.มอบ กบง.มาดำเนินกาต่อ ซึ่งทาง กกพ.ก็คงต้องเตรียมหลักเกณฑ์ต่างๆจะรับซื้ออย่างไร อัตราเท่าไหร่ แล้วก็เสนอ กบง.ตัดสินใจต่อไป”
อย่างไรก็ตาม กกพ.ได้ประสานการไฟฟ้า เพื่อให้ดำเนินการสำรวจความพร้อมของโรงไฟฟ้าชีวมวลทั่วประเทศทั้งโรงSPP และโรงVSPP ว่ามีโรงไฟฟ้าที่พร้อมจะผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มขายให้กับรัฐกี่แห่ง ปริมาณเท่าไหร่ และที่สำคัญไม่ใช่ว่าโรงไฟฟ้าใดอยากขายส่วนเพิ่ม ก็สามารถทำได้ แต่ยังต้องไปดูโครงสร้างระบบส่งไฟฟ้าด้วย ว่าความพร้อมของสายส่งไฟฟ้าที่จะรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มในแต่ละพื้นที่ ว่าจะมีปัญหาติดขัดหรือไม่ ดังนั้น ก็ต้องรอทางการไฟฟ้า จัดทำข้อมูลมานำเสนอต่อไป
ทั้งนี้ คาดว่า กระบวนการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลส่วนเพิ่มอีก 400 เมกะวัตต์ จะสามารถดำเนินการได้อย่างเร็วภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า หากไม่มีปัญหาติดขัดข้องเกิดขึ้น เพราะเป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องการผลิตอยู่แล้ว ก็สามารถผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มได้ในทันที