ไทย เตรียมชูเทคโนโลยีพลังงาน เวที SETA 2022 สู่เป้าหมายลดปล่อยคาร์บอน

ผู้ชมทั้งหมด 902 

ประเทศไทย เตรียมจัดอีเว้นท์ใหญ่ 3 งาน SETA 2022, Solar+Storage Asia 2022 และ Enlit Asia 2022 ” ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย.นี้ ชูเทคโนโลยีพลังงงาน ขับเคลื่อนสู่เป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์

วันนี้ (24 ส.ค. 2565) กระทรวงพลังงาน ร่วมกับบริษัท แกท อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท แคริออน อีเวนท์ จำกัด ประเทศสิงคโปร์ เตรียมจัดนิทรรศการและประชุมนานานชาติ พร้อมกัน 3 งาน ระหว่างวันที่ 20-22 ก.ย. 2565 ประกอบด้วย

1. งานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีทางด้านพลังงานและงานประชุมระดับผู้นำแห่งเอเชีย “งานพลังงานและเทคโนโลยีที่ยั่งยืนแห่งเอเชีย” (Sustainable Energy Technology Asia- SETA 2022) 

2. งานเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บประจุของเอเชีย (Solar+Storage Asia-SSA 2022)

และ 3. งาน Enlit Asia 2022 งานด้านผู้ผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบกริดระดับโลก ณ ศูนย์ฯไบเทค บางนา

นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน สนับสนุนการจัดงาน SETA ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 7 เนื่องจากเวทีดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนประเทศหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 และการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวข้องกับทิศทางพลังงานโลก รวมทั้งทิศทางพลังงานของไทยหลังจากลงนามภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังเตรียมเปิดเผยแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ หรือ PDP ฉบับล่าสุด เป็นครั้งแรกภายในงาน ซึ่งจะมีการอภิปรายถึงยุทธศาสตร์ของภาครัฐ ทั้งในด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานของประเทศไทยและความคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายในด้านการพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน  เป็นต้น

นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การประชุมและนิทรรศการทั้ง 3 งานนี้ นับเป็นเวทีด้านพลังงานที่สำคัญที่ผู้นำด้านพลังงานในภูมิภาคจะได้มาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้โซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานที่แท้จริง รวมถึง เป็นเวทีที่เปิดกว้างให้มีการอภิปรายและถกกันในประเด็นต่างๆ ที่มีความสำคัญตลอดห่วงโซ่ธุรกิจไฟฟ้าและพลังงาน อีกทั้งจะมีการนำเสนอข้อมูล และรายงานต่างๆ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงานต้องเผชิญ

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังมีโอกาสในการขยายเครือข่ายและการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานจากวิทยากรที่มาจากองค์กรอุตสาหกรรมพลังงานชั้นนำกว่า 200 แห่ง อาทิ ผู้บริหารจาก ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) การไฟฟ้านครหลวง (MEA)  การไฟฟ้ามาเลเซีย (TNB) การไฟฟ้าแห่งเวียดนาม (EVN) การฟ้าแห่งอินโดนีเซีย (PLN) และตัวแทนจากภาคเอกชน เช่น  Indonesia Power, Trilliant, Wartsila, Shell, Mitsubishi,Siemens,ABB,JERA,Toyota และ Saudi Aramco และ อีกหลายองค์กร

นายพงศกร ยุทธโกวิท  ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า การผลักดันนโยบายรัฐไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและความมั่นคงด้านพลังงานนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนจึงจะประสบความสำเร็จได้ สำหรับการจัดนี้คากว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานได้มากกว่า 10,000 คน จากธุรกิจไฟฟ้าและพลังงานทั่วภูมิภาคเอเซีย เอเซียแปซิฟิค และภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยมีบริษัทด้านพลังงานชั้นนำ รวมถึงอุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กว่า 350 บริษัท มาจัดแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีล่าสุดและโซลูชั่นด้านพลังงาน รวมถึงพร้อมให้ความรู้ คำแนะนำ และข้อมูลเชิงลึก เพื่อรับมือกับความท้าทายในอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การจัดงาน “SETA 2022,  Solar+Storage Asia 2022 และ Enlit Asia 2022 ”ครั้งนี้ จัดภายใต้หัวข้อหลัก “Accelerating ASEAN’s Energy Transition to Achieve Carbon Neutrality” เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนนโยบายพลังงานและเศรษฐกิจของรัฐบาล ตามการประกาศเจตนารมณ์ในเวทีการประชุม COP26 โดยประเทศไทยได้เตรียมพร้อมตอบรับในการจัดทำแผนพลังงานฉบับใหม่ มุ่งสู่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ให้มีการเร่งการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานจากแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศ

โดยทั้ง 3 งาน มุ่งสร้างสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ในนวัตกรรมพลังงาน และสร้างความแข็งแกร่งและการขยายฐานตลาดในกลุ่มพลังงาน โดยปี 2565 นี้จะมุ่งเน้นเรื่องการเปลี่ยนผ่านการไปสู่การใช้เทคโนโลยีสะอาด  

สำหรับหัวข้อต่าง ๆ ที่จะมีการอภิปรายบนเวที SETA 2022, Enlit Asia 2022 และ Solar+Storage Asia 2022 ตลอดระยะเวลาการจัดงานทั้ง 3 วัน จะเป็นประเด็นสอดคล้องกับแผน PDP ฉบับใหม่ ทั้งสิ้น โดยมีเนื้อหาสำคัญ 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การผลิตไฟฟ้าแบบปลอดคาร์บอน (Decarbonised Power Generation) (2) การเสริมความแข็งแกร่งและสร้างโครงข่ายระบบไฟฟ้าในอนาคต (Fortifying and Creating a Next-Gen Power Grid) (3) การพัฒนาระบบไฟฟ้าในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (The Electrification of The ASEAN Economy) (4) ความผันผวนของราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด (Electricity Prices Surging due to unexpected Circumstances) (5) การผลักดันพลังงานหมุนเวียนให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (Enabling Renewable Energy to meet RE Targets) และ (6) แผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (The Roadmap to Net-Zero)