“ไทยออยล์” คาดน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ผันผวน จับตาการประชุมโอเปกพลัส

ผู้ชมทั้งหมด 777 

“ไทยออยล์” ประเมินราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ยังผันผวน เหตุยังจับตาการประชุมโอเปกพลัส ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกฟื้นตัว ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าสูงสุดในรอบ 1 ปี คาดเวสต์เท็กซัส แกว่งในกรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ แกว่งในกรอบ 77-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดยประเมินแนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (4 – 8 ต.ค. 64) พบว่า ราคาน้ำมันดิบผันผวน โดยตลาดจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในสัปดาห์ที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิมที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. 64 ขณะที่สถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการใช้น้ำมันในการทำความร้อนและอุตสาหกรรม

รวมทั้งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ระดับสูง หนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่แข็งค่า แตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มผ่อนคลายมาตรการ QE ในช่วงเดือน พ.ย. 64 ทำให้ราคาน้ำมันดิบถูกกดดัน

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ได้แก่

  • ในการประชุมวันที่ 4 ต.ค. 64 นี้ กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีแนวโน้มคงมติเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตที่ประมาณ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับปริมาณการผลิตในเดือน พ.ย. 64 แม้ว่าหลายประเทศ อาทิเช่น สหรัฐฯ จะออกมาเรียกร้องให้โอเปกทำเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น ทั้งนี้บางประเทศสมาชิกของกลุ่มโอเปกพลัส เช่น ไนจีเรีย แองโกลา ยังคงประสบปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตตามข้อตกลง ให้เพียงพอต่อการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงและการลงทุนอย่างจำกัดในช่วงที่ผ่านมา
  • บริษัท Petrochina และ Hengli Petrochemical เป็นผู้ชนะการประมูลน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ หลังรัฐบาลจีนประกาศขายเพื่อช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบของโรงกลั่นภายในประเทศ โดยปริมาณที่ทั้งสองบริษัทประมูลได้นั้นตกราว 4.43 ล้านบาร์เรลหรือราว 60% ของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ที่ออกขายทั้งหมด ทั้งนี้ราคาได้ประมูลได้นั้นอยู่อยู่ที่ราว 65-70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบในปัจจุบัน นักวิเคราะห์จาก Wood Mackenize คาดว่าจีนน่าจะออกขายน้ำมันดิบคงคลังทางยุทธศาสตร์ราว 33-82.5 ล้านบาร์เรล จากปริมาณน้ำมันดิบทั้งหมด 340 ล้านบาร์เรล
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับที่ตลาดคาดไว้ว่าจะปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 418.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง 1.7 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ โรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพียงเล็กน้อยแตะระดับ 88.1%
  • สถานการณ์การขาดแคลนกระแสไฟฟ้าในจีน กำลังส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง ต้องลดหรือหยุดดำเนินการผลิต หลังรัฐบาลจีนประกาศนโยบายเชิงรุก เพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากถ่านหิน ตามข้อตกลงกับสหประชาชาติ ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินในจีน ปรับลดลง ส่งผลให้การผลิตกระแสไฟฟ้าในจีน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้
  • Goldman Sachs คาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีโอกาสอยู่ที่ระดับ 90 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลภายในสิ้นปี หลังตลาดน้ำมันดิบค่อนข้างตึงตัวจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจส่งผลต่ออุปสงค์การใช้น้ำมันดิบ
  • ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี และมีแนวโน้มกดดันราคาน้ำมันดิบ หลังตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะลดมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (QE) ในเดือน พ.ย. และปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯจะมีอีกครั้งในวันที่ 2 – 3 พ.ย. 64 เพื่อตัดสินใจ
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมกลุ่มโอเปกพลัสเดือน ต.ค. 64 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการกลุ่มยูโรโซนและสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเยอรมันเดือน ส.ค.64

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (27 ก.ย. – 1 ต.ค.64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนและในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติอยู่ในระดับสูง รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลก หนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้