ผู้ชมทั้งหมด 670
“รัฐ” เร่งรื้อแผนPDP ฉบับใหม่ รับมือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างไฟฟ้าไทย คาดเสนอ กพช.และครม.พิจารณา ไตรมาส 3 ปีนี้ ขณะที่ “เอกชน” เสนอเร่งเปิดเสรีไฟฟ้า ส่งเสริมใช้พลังงานสะอาดRE100 ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า หนุนสู่เป้าหมายลดโลกร้อน
เวทีเสวนาพิเศษ “ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” ที่จัดขึ้นโดย วิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่น2 (วพม.2) และ สมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ปาฐกถาพิเศษ “นโยบายด้านกิจการไฟฟ้าของประเทศ โดยระบุว่า โครงสร้างการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตที่เห็นได้ชัดคือ ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค)ที่เดิมจะเกิดขึ้นในช่วงกลางวันที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าพร้อมกัน แต่ในช่วง 2 ปีหลังมานี้ พีคไฟฟ้าเปลี่ยนมาเป็นช่วงกลางคืน โดยพีคไฟฟ้าขึ้นทำลายสถิติทะลุระดับ 35,000 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศอยู่ที่ 53,000 เมกะวัตต์ ซึ่งลักษณะการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปดังกล่าว จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำเข้าไปประกอบการพิจารณาปรับแผนพัฒนากำลังการผลืตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับใหม่ (PDP 2024)
ปัจจุบัน การจัดทำร่างแผนPDP ฉบับใหม่ ได้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ ไปแล้ว 1 ครั้ง แต่ยังมีรายละเอียดที่ต้องปรับแก้ไขใหม่ และเตรียมนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ เป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พ.ค.นี้ ซึ่งหากผ่านการพิจารณา ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยรูปแบบในปีนี้ คาดว่า จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากส่วนกลางคือ พื้นที่กรุงเทพฯ และระดับภูมิภาคจะจัดทำรูปแบบออนไลน์ 2 ครั้ง ได้ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ และคาดว่า จะสามารถนำเสนอแผนPDP ฉบับใหม่ ไปพร้อมกับอีก 4 แผนพลังงาน คือแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ,แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) ,แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) รวมถึงนำเสนอพร้อมกับร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้
“ปัจจุบันโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยจะมีระยะดำเนินการ 5 ปี (2564-2568) ซึ่งในปีหน้า สนพ.จะต้องจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ (ปี 2569-2573) ซึ่งจะต้องมาดูว่ามีปัจจัยใดเปลี่ยนแปลงไปบ้าง ทั้งอัตราทั่วประเทศ(Uniform Tariff) ,สะท้อนรายได้ที่พึ่งได้รับแยกตามประเภทกิจการไฟฟ้า,คำนึงถึงต้นทุนในการรักษาเสถียรภาพ,กำกับดูแลแบบจูงใจ,กลไกติดตามการลงทุนและบทปรับ และกลไกการชดเชยรายได้ เป็นต้น”
ขณะที่การเสวนาหัวข้อ ”ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ต้องทำอย่างไร” นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ปตท.คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยในอนาคตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าก็มีหลากหลายรูปแบบมากขึ้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการออกแบบระบบขึ้นมาบริหารจัดการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าให้เห็นภาพที่ชัดเจน ซึ่งก็คาดหวังว่า แผนPDP ฉบับใหม่ จะมีความชัดเจนในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม ปตท.มองว่า อัตราค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมนั้น ควรจะต้องดำเนินการดังนี้ 1.การใช้ไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนแท้จริงและไม่ทำให้ระบบเกิดการบิดเบือน 2.ให้ความรู้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเรื่องการประหยัดไฟฟ้า 3. นำเทคโนโลยีประหยัดไฟฟ้าเข้ามาใช้ และ4. เปิดเสรีไฟฟ้า เพื่อเปิดทางเลือกใหม่ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็ต้องปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการผลิตและการใช้ไฟฟ้าในรูปแบบใหม่
รวมถึงในอนาคตโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทย จะยังเป็นรูปแบบโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน (TOU) หรือไม่ และหากยกเลิกจะต้องมีระยะเวลาเพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้เตรียนมปรับตัวด้วย
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า ราคาค่าไฟฟ้าในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามนโยบายการบริหารค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น ทางภาครัฐและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) พยายามบริหารค่าไฟฟ้าให้เป็นธรรมและไม่ให้ปรับสูงเกินไปจนกระทบต่อประชาชน โดยค่าไฟฟ้าปัจจุบันยังคงตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย แต่ประชาชนอาจจะรู้สึกว่าค่าไฟฟ้าแพงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักขึ้น อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงฤดูร้อนนี้ยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของประเทศไทยอาจจะพุ่งทะลุ 36,000 เมกะวัตต์ได้ จากเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2567 พีคไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้าขึ้นไปถึง 35,830 เมกะวัตต์
นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ข้อเสนอแนวทางการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้านั้น ควรเริ่มประกาศใช้ TPA-Third Part Access และกำหนดอัตรา Wheeling Charge ที่เหมาะสม และเตรียมการสำหรับ Direct PPA โดยไม่ชักช้า ,ภาครัฐควรตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ เช่น ในส่วนไฟสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3จังหวัดชายแดนใต้และสงขลา และอื่นๆ เป็นต้น ตลอดจนปรับการอุดหนุนค่าไฟฟรีให้กลุ่มคนจนแท้จริง
ขณะที่โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนต้นทุนด้านเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท รวมถึงในอนาคตสามารถใช้กองทุน Climate Change ในพรบ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาค ในส่วนของการพัฒนาพลังงานสะอาดได้
นอกจากนี้ ควรเปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก ESB – Enhanced Single Buyer ไปสู้การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์ความต้องการใช้ไฟฟ้า RE100 ของ FDI,การส่งออก และบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality แบบเป็นขั้นตอนภายในกอรบเป้าหมายเวลาที่เหมาะสม โดยเริ่มจากพื้นที่ที่มีความต้องการไฟฟ้าRE100 สูงมาก เช่น EEC และนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
“ผมมองว่า มาตรการใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 50 หน่วย ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าเป็นบุคคลที่มีบ้านหลายหลัง แต่ไม่ค่อยอยู่บ้านก็ใช้ไฟน้อยไม่ถึง 50 หน่วยอยู่แล้ว และบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนมีฐานะไม่ใช่คนจนแต่กลับได้รับสิทธิตรงนี้ ขณะเดียวกันคนจนหลายคนที่อยู่รวมกันในบ้านหลังเดียวก็เกิดการใช้ไฟฟ้าเกิน 50 หน่วย กลับไม่ได้รับสิทธิตรงนี้”
นายวฤต รัตน์ชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า โครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้าควรต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากขณะนี้มีทางเลือกในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เช่นการผลิตไฟฟ้าใช้เองบางส่วน ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลงได้ แต่กลุ่มประชาชนที่ไม่มีทางเลือก อาจต้องแบกรับต้นทุนค่าไฟฟ้าสูงกว่า ดังนั้นภาครัฐจะต้องบริหารจัดการโครงสร้างค่าไฟฟ้าให้เกิดความเป็นธรรมกับกลุ่มที่ไม่มีทางเลือกดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ระบบค่าไฟฟ้าแบบ TOU เป็นระบบที่ใช้มายาวนาน ซึ่งเป็นระบบที่คิดค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาการใช้งาน ที่เน้นให้ไปใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืน เพื่อเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ตลอดวัน และปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของประชาชนก็ปรับเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าช่วงกลางคืนมากขึ้น รวมถึงการชาร์จไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ชาร์จไฟฟ้าช่วงกลางคืน ดังนั้นภาครัฐควรบริหารจัดการไฟฟ้าประเทศให้เหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น
นายชนะ ภูมิ นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย กล่าวว่า ไฟฟ้าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ และเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งไฟฟ้าตกดับเพียง 1 นาทีกระทบเป็นเงินถึง 5 แสนบาทต่อครั้ง ปัจจุบันโรงงานปูนซิเมนต์ที่สระบุรีจึงนำเทคโนโลยีผลิตพลังงานใช้เองมาใช้มากขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนพลังงานระหว่างกันในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้ต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าของเราลดลง เหลือซื้อจากระบบของการไฟฟ้า 12,000-13,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาทที่เหลือ 40% ผลิตใช้เอง ซึ่งพร้อมเป็นโมเดลให้ทุกภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามา ภาคนโยบายต้องปรับให้ทัน ยกตัวอย่างค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ที่ปรับทุก 4 เดือนเห็นควรให้ยกเลิก และหันมาสนับสนุนการกักเก็บพลังงาน ( Energy Storage) ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ รวมถึงสร้างทางเลือกการซื้อขายไฟฟ้าได้หลายแหล่ง เป็นต้น