เริ่มแล้ว!! บัตรเหมาจ่ายใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง-รถเมล์ ขสมก.เดือนละ 2,000 บาท

ผู้ชมทั้งหมด 646 

เริ่มแล้ว!! บัตรเหมาจ่ายใช้ขึ้นรถไฟฟ้าสายสีแดง-รถเมล์ขสมก.เดือนละ 2,000 บาทใช้ได้ 30 วัน ประเมินผลการใช้งาน 6 เดือนก่อนปรุบปรับให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 29 มี.ค. ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วย นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และ นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมพิธีเปิดโครงการบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BBK X BMTA หรือ บัตรโดยสารเดียวที่สามารถใช้เดินทางร่วมระหว่างรถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถเมล์ ขสมก.ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ

นายสุเทพ กล่าวว่า บัตรเหมาจ่ายจะเริ่มจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.เป็นต้นไป ในราคา 2,000 บาท และมีค่าออกบัตร 100 บาท สามารถใช้งานได้ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันที่ผู้โดยสารใช้บัตรครั้งแรกที่รถไฟฟ้าสายสีแดง หรือรถเมล์ ขสมก. โดยสามารถใช้เดินทางด้วยรถไฟชานเมืองสายสีแดง สูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และรถเมล์ ขสมก. ไม่จำกัดเที่ยว  ซึ่งผู้โดยสารสามารถชำระค่าโดยสารโดยการใช้บัตรแตะชำระค่าโดยสารที่จุดชำระของรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ตามที่ทางรฟท. กำหนดและเครื่อง EDC บนรถเมล์ ขสมก.  ทั้งนี้คาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บัตรเหมาจ่ายดังกล่าวประมาณ 10,000 คนต่อวัน จากจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงในปัจจุบันเฉลี่ย 25,000 คนต่อวัน

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ผู้โดยสารสามารถซื้อบัตรเหมาจ่ายครั้งแรกได้ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง และเขตการเดินรถตามที่ ขสมก. กำหนด และเติมเงินเข้าบัตรได้หลายช่องทาง เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทย แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT การเติมเงินผ่านการสแกน QR Code หลังบัตร รวมทั้งการเติมเงินผ่านช่องทางอื่นทาง MOBILE BANKING ของทุกธนาคาร และชำระเงินสดผ่านเครื่อง EDC ณ จุดจำหน่ายบัตร

ด้าน นางพริ้มเพรา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารที่ชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน ซึ่งตั้งเป้าว่าบัตรเหมาจ่ายจะช่วยเพิ่มยอดผู้ใช้บริการชำระผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 55,000-60,000 คนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 700,000 คนต่อวัน อย่างไรก็ตาม ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้เวลาเมินการใช้งานบัตรเหมาจ่ายเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของผู้โดยสาร และระบบต่างๆ ก่อนนำมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป

ด้านนายพิเชฐ กล่าวว่า บัตรเหมาจ่ายดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้จริงในการใช้บัตรใบเดียวเดินทางร่วมกันระหว่างระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ อาทิ รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ  ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมรองรับการใช้งานร่วมกันที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนี้ก็มีหลายพรรคการเมืองที่มีนโยบานในการหาเสียงเลือกตั้งเกี่ยวกับการจัดเก็บอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าตลอดสายไม่เกิน 20 บาท หรือ 40 บาทตลอดสาย หากชนะการเลือกตั้ง และได้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็มีความเป็นไปได้ว่าพรรคการเมืองที่หาเสียงไว้จะดำเนินการออกบัตรเหมาจ่ายให้ประชาชนได้ใช้บริการขนส่งสาธารณะร่วมกัน

อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปหากจัดทำบัตรเหมาเที่ยวที่ใช้เดินทางร่วมทั้ง รถเมล์ ขสมก. และรถไฟฟ้าทั้งสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง รวมทั้ง รถไฟชานเมือง (สายสีแดง) เมื่อคิดในอัตราเหมารายวันแล้วจะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนลงได้ ซึ่งก่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นได้