“สราวุธ” ไม่ห่วง ”อภิรัฐ” ฝากเร่ง 3 โปรเจ็คใหญ่ มอเตอร์เวย์ M82 M6 M81 

ผู้ชมทั้งหมด 253 

“สราวุธ” ไม่ห่วง ”อภิรัฐ” ฝากเร่ง 3 โปรเจ็คใหญ่ มอเตอร์เวย์ M82 M6 M81 สานต่องานทางหลวงในอนาคต พร้อมเตรียมงบประมาณปี 68 กว่า 1.27 แสนล้าน

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ให้สัมภาษณ์ถึงนายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิบดี ทล.คนใหม่ หลังตนเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 ก.ย. 2567 ว่า นายอภิรัฐ ถือเป็นลูกหม้อ ทล. ที่ตนได้ทำงานร่วมกันมาอย่างใกล้ชิดเป็นเวลานาน 15 ปี จึงไม่ค่อยห่วงเรื่องการเดินหน้าต่อหรือสานต่อจากงานที่ยังค้างอยู่ แต่ส่วนตัวมองว่าเป็นความท้าทายเพราะดูแล้วไม่ง่าย ซึ่งถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่นายอภิรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามเป้าหมาย โดยมีงานสำคัญค้างอยู่ในสมัยตนยังทำไม่จบ แต่นายอภิรัฐต้องทำให้เสร็จได้แก่ 

1.โครงการก่อสร้างทางยกระดับทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี-ปากท่อ ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ที่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2568 

2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีงานสำคัญที่ต้องผลักดันคือการก่อสร้างงานโยธาที่จะต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายใน ปี 2568 เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้ โดยตั้งเป้าว่าภายในสิ้นปี 2568 จะได้เห็นประชาชนเดินทางฟรีตั้งแต่บางปะอิน ถึงโคราช ก่อนจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในต้นปี 2569

3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M 81) ที่งานโยธาจะต้องแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 นี้ เพื่อเปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรีช่วงปลายปี และพร้อมเปิดให้บริการเต็มรูปแบบกลางปี 2568 

นายสราวุธ กล่าวอีกว่า สำหรับงานที่ท้าทายที่เป็นงานใหม่ก็มีค่อนข้างเยอะ ทั้งโครงการขยายถนน 4 ช่องจราจร และงานก่อสร้างถนนเส้นทางใหม่ เช่น โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเลี่ยงเมืองอ่างทอง จ.อ่างทอง ระยะทาง 7.998 กิโลเมตร (กม.) มูลค่า 5,080 ล้านบาท ที่จะเปิดประกวดราคาภายในปีนี้ โครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ช่วงพุทธมณฑลสาย 3-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทาง 3.360 กม. วงเงิน 3,000 ล้านบาท และช่วงพุทธมณฑลสาย 4-ทางหลวงหมายเลข 4 ระยะทาง 17.980 กม. วงเงิน 12,250 ล้านบาท เป็นต้น

การดำเนินโครงการพระราชดำริ ได้แก่ โครงการพัฒนาคูน้ำริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ถนนวิภาวดีรังสิต) ระยะที่ 2 (เฟส2) ระหว่างกม.5+500-กม.30+300 ช่วงแยกดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต-คลองบึงทะเลสาบ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทาง 24.8 กม. ที่ต้องแล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2567 และเฟส 3 ระหว่าง กม.8+700-กม.25+500 ช่วงคลองบางซื่อ (ซอยวิภาวดีรังสิต 3)-ฐานทัพอากาศดอนเมือง 16.8 กม. ซึ่งต้องแล้วเสร็จภายในปี 2569

นอกจากนี้ยังมีโครงการการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) ซึ่งมีอยู่หลายโครงการที่รอดำเนินการอยู่ ได้แก่ โครงการบริหารจัดการที่พักริมทาง (rest area ) ซึ่งปลายเดือนสิงหาคม 2567 จะมีการลงนามในสัญญาดำเนินโครงการบริหารจัดการที่พักริมทางแห่งแรกอย่างเต็มรูปแบบ กับกลุ่มกิจการร่วมค้าอาร์อี ประกอบด้วย บริษัท ปตท.บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (ผู้นำกลุ่ม) และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด ผู้ชนะการประมูลโครงการศูนย์บริการทางหลวงศรีราชา บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 (M7) สายกรุงเทพมหานคร-บ้านฉาง มูลค่าการลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท รวมถึงต้องดำเนินโครงการบริหารจัดการที่พักริมทางบนมอเตอร์เวย์ M6 และ มอเตอร์เวย์ M81 ด้วย

ขณะเดียวกันยังมีงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (O&M) มอเตอร์เวย์ M82 โครงการมอเตอร์เวย์ ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต –บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท และโครงการมอเตอร์เวย์ หมายเลข 9 (M9) สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตก ตอนบางบัวทอง–บางปะอินระยะทาง 38 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท ซึ่งเตรียมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว

รวมถึงโครงการมอเตอร์เวย์ สายนครปฐม – ปากท่อ – ชะอำ (M8) นครปฐม-ชะอำ ที่ได้มีการปรับปรุงรูปแบบตามผลการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงนครปฐม (นครชัยศรี)-ปากท่อ ระยะทาง61 กม. และช่วงปากท่อ-ชะอำ 48 กม.  โดยทล.จะดำเนินการเองในส่วนของนครปฐม-ปากท่อ ไปก่อน ซึ่งจะใช้เงินกู้วงเงินประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท และ O&M ประมาณ 3 พันล้านบาท

ส่วนช่วงปากท่อ-ชะอำ รูปแบบการดำเนินงานยังไม่จบจะต้องมีการเคลียร์แนวเส้นทางบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีการคัดค้านเมื่อ4ปีที่แล้วถึงวันนี้ความคิดก็อาจจะเปลี่ยน จึงมอบหมายให้ทีมงานลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขเยียวยา รวมถึงชี้ให้เห็นว่า เส้นทางนี้จะช่วยเสริมความมั่นคงในการเดินทางกรณีที่เส้นทางเพชรเกษมเกิดน้ำท่วมหรือถูกตัดขาด จึงจำเป็นต้องมีอีกเส้นทางรองรับการเดินทางลงสู่ภาคใต้ ทั้งนี้เมื่อได้ข้อสรุปที่ชัดเจนจะมีการออกแบบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายสราวุธ ยังกล่าวถึงโครงการในอนาคตที่ต้องเตรียมความพร้อมดำเนินการจ้างศึกษาเส้นทางมอเตอร์เวย์ ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองชลบุรี (แหลมฉบัง) – นครราชสีมา ช่วงแหลมฉบัง – ปราจีนบุรี ทล.359 มูลค่างานก่อสร้างกว่า 7 หมื่นล้านบาท  

“งานไฮไลท์ที่นายอภิรัฐต้องดำเนินการต่อ คือ งานก่อสร้างที่ยังไม่เรียบร้อย งานก่อสร้างแล้วที่เตรียมเปิดให้บริการและงานพีพีพีโครงการใหม่ และยังไม่นับงานที่ต้องผลักดันในปีงบประมาณ 2568 ที่กรมทางหลวงได้รับงบประมาณจำนวน 127,685 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้น กว่า 5,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2567 ซึ่งมีโครงการที่ต้องเตรียมจัดซื้อจัดจ้างใหม่ประมาณ 4,700 โครงการ ตลอดจนการตั้งงบประมาณในปี 69 ตามนโยบายด้วย”นายสราวุธ กล่าว