“สยามพาวเวอร์” จ่อเซ็น PPA โรงไฟฟ้าขยะ 2 โครงการ 19 เมกะวัตต์

ผู้ชมทั้งหมด 1,194 

สยามพาวเวอร์” จ่อลงนาม PPA โรงไฟฟ้าขยะ 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19 เมกะวัตต์ ที่ “โคราช” มูลค่าโครงการรวมกว่า 4 พันล้านบาท กำหนด COD ปี 69 ส่วนโรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์ที่จ.นนทบุรีคาดมีรายได้กว่า400 ล้านบาทต่อปี

นายสุชาติ จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัต้การ บริษัท สยามพาวเวอร์ จำกัด (SP) กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะในปีนี้อีก 2 โครงการ กำลังการผลิตรวม 19 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์ 2 (SP2) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยามพาวเวอร์ 3 (SP3) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา โดยทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) อายุสัญญา 20 ปี กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายในเดือนมีนาคม2567 

โรงไฟฟ้าขยะทั้ง 2 โครงการนี้เป็นระบบเชื้อเพลิงขยะสดจะไม่มีโรงคัดแยกขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ปลายปีนี้ โดยมีกำหนดเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2569 คาดว่าใช้งบลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อโครงการ รวม 4,000 ล้านบาท ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้ารวมการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทต่อหน่วย สำหรับ 12 ปีถัดไป คาดว่าจะสร้างรายได้ให้กับสยามพาวเวอร์ปีละประมาณ 400 – 500 ล้านบาท ส่วนปริมาณขยะที่จะป้อนให้กับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งที่อยู่พื้นที่ตำบลหนองสาหร่าย และพื้นที่ของตำบลนากลางนั้นคาดว่าจะมีปริมาณขยะแห่งละประมาณ 500 ตันต่อวัน 

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีแผนขยายลงทุนอีกประมาณ 3-4 โครงการ ทั้งในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ ขณะนี้อยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองของกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบ ส่วนรูปแบบโครงการเป็นรูปแบบVSPP (Very Small Power Producer) 

นายสุชาติ กล่าวถึงโคงการโรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์แห่งแรกที่จังหวัดนนทบุรีว่า โรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์เริ่ม COD ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ภายใต้สัญญา PPA 20 ปี อัตราการรับซื้อไฟฟ้ารวมการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทต่อหน่วย สำหรับ 12 ปีถัดไป โดยการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้คาดว่า จะมีรายได้ประมาณ  400 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 8 ปี

โรงไฟฟ้าสยามพาวเวอร์ที่จังหวัดนนทบุรีนั้นเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) มีโรงคัดแยกเชื้อเพลิงขยะ RDF 350-400 ตันต่อวัน แต่มีอัตราการใช้เชื้อเพลิงขยะประมาณ 300-350 ตันต่อวัน หรือ120,000 ตันต่อปี ซึ่งมาจากบ่อขยะฝังกลบที่สยาม พาวเวอร์สัมปทานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีนั้นมีปริมาณขยะราว 3.8 ล้านตัน เพียงพอต่อการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตลอดอายุสัญญาการผลิตไฟฟ้า 

สำหรับเทคโนโลยีนั้นได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมที่อบจ.นนทบุรี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (CFB) มีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (Flue Gas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง(CEMs) เพื่อทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบด้วย