สนพ.จับตา โอเปกพลัส ถก 5 ก.ย.นี้ หวั่นดันราคาน้ำมัน

ผู้ชมทั้งหมด 432 

สนพ. ชี้ ราคาน้ำมันดิบยังผันผวน จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก พร้อมจับตา การประชุมโอเปกพลัส 5 ก.ย.นี้ เพิ่มทางเลือก “ลด” การผลิต กระตุ้นราคาน้ำมัน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า ราคาน้ำมันดิบยังคงผันผวน จากตลาดยังคงกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก จากตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอของทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและจีน ซึ่งเป็นสัญญาณการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงและอาจส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันลดลง นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นจากการคาดการณ์ว่าธนาคากลางสหรัฐฯ (FED) จะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ยังเป็นอีกปัจจัยที่กดดันราคาน้ำมันเนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาแพงขึ้นสำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสัญญาณจากกลุ่มโอเปกพลัสที่อาจพิจารณาเพิ่มทางเลือก “ลด” การผลิตน้ำมันดิบเพื่อกระตุ้นราคาน้ำมันในการประชุมครั้งถัดไป (วันที่ 5 กันยายน 2565)

โดย ภาพรวมสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก (วันที่ 15 – 21 สิงหาคม 2565) ราคาน้ำมันดิบดูไบและเวสต์      เท็กซัส เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 92.84 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 89.06 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดจากสัปดาห์ที่แล้ว 3.01 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 2.86 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตามลำดับ ทั้งนี้ จากสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในจีน เนื่องมาจากผลกระทบของนโยบายปลอดโควิคในปักกิ่ง รวมถึงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางของจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังสหรัฐแจ้งว่าพร้อมที่จะบรรลุข้อตกลงกับอิหร่านตามข้อเสนอของอียู ซึ่งจะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้ อีกทั้งการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% เป็นครั้งที่ 3 ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอย และท้าให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัวลง

สำหรับ ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดภูมิภาคเอเชีย ดังนี้

ราคาน้ำมันเบนซิน: ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95, 92 และ 91 (Non-Oxy) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 110.88 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 106.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 109.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 0.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ 0.58 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล         เนื่องจากตลาดคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนจะปรับตัวลดลงในเดือนกันยายน 2565 อย่างไรก็ดี ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณสต๊อกน้ำมันเบนซินในซาอุดีอาระเบียที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดย International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 17 สิงหาคม 2565 ลดลง 0.97 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 16.7 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันดีเซล: ราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 136.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 5.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคยังทรงตัว ในขณะที่โรงกลั่นในภูมิภาคกำลังเพิ่มการผลิตและคาดว่าจะได้รับแรงหนุนของอุปสงค์จากภาคตะวันตกเพิ่มขึ้น โดยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากศรีลังกา แอฟริกาใต้ ในขณะเดียวกันราคายังได้รับแรงหนุนจากสต๊อกน้ำมันดีเซลของสหรัฐอาหรับ         เอมิเรตส์ที่ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณ       อุปสงค์น้ำมันดีเซลในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 12 สิงหาคม 2565 เพิ่มขึ้น 200,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 3.9 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะที่ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น 56,000 บาร์เรล/วัน มาอยู่ที่ 5.18 ล้านบาร์เรล/วัน

ส่วนค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.01 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 35.6742 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ทำให้ต้นทุนน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 0.23 บาท/ลิตร และต้นทุนน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 1.30 บาท/ลิตร ส่งผลต่อค่าการตลาดเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของน้ำมันกลุ่มเบนซิน และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ระดับ 1.58 บาท/ลิตร

ทั้งนี้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2565 กองทุนน้ำมันฯ มีสินทรัพย์รวม 15,608 ล้านบาท หนี้สินกองทุนฯ 133,618 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันฯ สุทธิ -118,010 (บัญชีน้ำมัน -76,741 ล้านบาท และบัญชี LPG  -41,269 ล้านบาท)