ผู้ชมทั้งหมด 657
สนพ.คาดการณ์ปี 2566 การใช้พลังงานเพิ่ม 2.7% สอดรับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ขณะที่คาดทั้งปี 2565 การใช้พลังงานขยายตัว 3.2%
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2566 โดยคาดว่าจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากความต้องการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้นทั้งการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ โดยการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 1.8 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ4.4 อย่างไรก็ตามในส่วนของสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทย และแนวโน้มความต้องการพลังงานในปี 2566 ยังคงมีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน (ZERO COVID-19) ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤติราคาพลังงานอย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานต่อไป
ส่วนแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2565 คาดว่าจะความต้องการพลังงานขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 2,056 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับปี 2564 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว ทั้งนี้คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท ยกเว้นก๊าซธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตภายในประเทศที่ลดลง และผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน สำหรับการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ14.9 การใช้ก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะลดลงร้อยละ 9.1 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 ส่วนการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7
ขณะที่สถานการณ์พลังงานในช่วง 9 เดือนของปี 2565 พบว่าการใช้พลังงานขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น รวมถึงมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ที่มากขึ้น ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4 ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกประเภทพลังงาน โดยเฉพาะการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในส่วนของน้ำมันเครื่องบินมีการใช้เพิ่มขึ้นถึงร้อย80.1 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ สำหรับการใช้ไฟฟ้ามีการใช้เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสาขาธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ รวมทั้งการที่หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนได้ให้บุคลากรกลับไปทำงานที่สำนักงานตามปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 สรุปได้ดังนี้
การใช้น้ำมันสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันเครื่องบิน น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล LPG (ไม่รวมที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) และน้ำมันเบนซินร้อยละ 80.1 18.9 18.5 7.6 และ 5.4 ตามลำดับ ส่วนการใช้น้ำมันก๊าด ลดลงร้อยละ 8.1 โดยการใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 อยู่ที่ระดับ 72 ล้านลิตรต่อวัน การใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 อยู่ที่ระดับ 30 ล้านลิตรต่อวัน สำหรับการใช้น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 80.1 อยู่ที่ระดับ 8 ล้านลิตรต่อวัน ด้านน้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 อยู่ที่ระดับ 6 ล้านลิตรต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ในภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรม
การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.0 อยู่ที่ระดับ 18.2 พันตันต่อวัน โดยการใช้ LPG เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการใช้สูงสุดคิดเป็นร้อยละ 45 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 รองลงมาภาคครัวเรือนซึ่งมีสัดส่วนการใช้คิดเป็นร้อยละ 31 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ภาคขนส่งมีสัดส่วนร้อยละ 13 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.8 ภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 10 มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในขณะที่การใช้เอง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1 มีการใช้ลดลงร้อยละ 44.8
ก๊าซธรรมชาติ และก๊าซโซลีนธรรมชาติ (NGL) ลดลงร้อยละ 5.3 อยู่ที่ระดับ 4,246 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าในโรงงานอุตสาหกรรมร้อยละ 15.4 และ 5.7 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลมาจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่การใช้ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4
ส่วนการใช้ ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 อยู่ที่ระดับ 15,041 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (KTOE) จากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.9 และการใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ส่วนการใช้ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ร้อยละ 95 ของการใช้ลิกไนต์เป็นการใช้ในการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ส่วนที่เหลือร้อยละ 5 นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม
ด้านการใช้ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 มีการใช้รวมทั้งสิ้น 149,972 กิกะวัตต์ชั่วโมง โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ ร้อยละ45 อยู่ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากขึ้นทำให้เกิดการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้นรองลงมา คือ การใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจ มีสัดส่วนร้อยละ 23 และมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 ซึ่งมาจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดของระบบ 3 การไฟฟ้าของปี2565 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 เวลา 14:30 น. อยู่ที่ระดับ 33,177 เมกกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้าของปีก่อน