สนพ. คาดการณ์ใช้พลังงานปี 66 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 หลังเศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัว

ผู้ชมทั้งหมด 17,887 

สนพ. คาดการณ์ว่าการใช้พลังงานขั้นต้นปี 66 จะเพิ่มเพียงร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ การเดินทางภายในประเทศ และระหว่างประเทศมากขึ้น ขณะที่ปี 65 ยอดใช้พลังงานขั้นต้นลดลงร้อยละ 0.1 

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ “แนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566” โดยอ้างอิงสมมุติฐานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  (สศช.) คาดว่าภาพรวมการใช้พลังงานในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8  อยู่ที่ระดับ 2,047 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน การใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน/ลิกไนต์ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 จากการใช้ถ่านหินนำเข้าที่เพิ่มขึ้น การใช้น้ำมัน จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 โดยเฉพาะกลุ่มน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล และน้ำมันเครื่องบิน จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศ และแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินจากต่างประเทศ การใช้ก๊าซธรรมชาติ จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความต้องการการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคาพลังงานนั้น สศช. คาดว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2566 จะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2566 จะอยู่ที่ 32.2 – 33.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 2.6 และเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2566 จะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 2.7 – 3.7 ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ การอุปโภคบริโภคภายในประเทศ และภาคการเกษตร

ขณะที่สถานการณ์พลังงานในปี 2565 พบว่า ภาพรวมการใช้พลังงานขั้นต้น อยู่ที่ระดับ 1,990 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยเพียง ร้อยละ 0.1  เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นการลดลงจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ร้อยละ 9.6 และสำหรับการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 9.1 ในส่วนของการใช้ใน ภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาถ่านหินปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.9 เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะปกติเพิ่มมากขึ้น สำหรับการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ/ไฟฟ้านำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 ตามปริมาณฝนและน้ำในเขื่อน รวมทั้งการนำเข้าไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิงของปี 2565 สรุปได้ดังนี้

การใช้น้ำมันสำเร็จรูป ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4 อยู่ที่ระดับ 137.5 ล้านลิตรต่อวัน โดยการใช้น้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 73.1 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9  มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 30.2 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเครื่องบิน เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.7 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 9.2 ล้านลิตรต่อวัน น้ำมันเตา เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.4 ล้านลิตรต่อวัน

การใช้ LPG โพรเพน และบิวเทน ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 อยู่ที่ระดับ 6,448 พันตัน จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 และ ภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 สำหรับภาคครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 ขณะที่การใช้ ภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.3 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ใช้รถส่วนหนึ่งหันกลับมาใช้ LPG ทดแทนน้ำมัน

การใช้ก๊าซธรรมชาติ ภาพรวมเฉลี่ยลดลงร้อยละ 5.7 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 4,143 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยลดลงจากการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าและการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งการใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า ลดลงถึงร้อยละ 6.4 เนื่องจากการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมีปริมาณลดลง ทำให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG แบบสัญญาจร (Spot LNG) เพิ่มขึ้น เพื่อมาใช้ทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย สำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงร้อยละ 14.2 อย่างไรก็ตามในส่วนของการใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีการใช้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การส่งออกสินค้า และการใช้ในภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ส่วนการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ลดลงร้อยละ 9.0 อยู่ที่ระดับ 16,997 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ สอดคล้องกับปริมาณการผลิตภายในประเทศที่ลดลง

ด้านการใช้ไฟฟ้า ภาพรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 อยู่ที่ 197,209 ล้านหน่วย จากการใช้ที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสาขาเศรษฐกิจ ยกเว้น ครัวเรือนและภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ ความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดในระบบ 3 การไฟฟ้า (System Peak) ของปี 2565 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 ณ เวลา 14:30 น. ที่ระดับ 33,177 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับ Peak ของปี 2564 ที่ระดับ 31,023 เมกะวัตต์ โดยการใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 สำหรับภาคธุรกิจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 โดยกลุ่มธุรกิจสำคัญที่มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์และเกสเฮ้าส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 และธุรกิจห้างสรรพสินค้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เป็นต้น