ผู้ชมทั้งหมด 1,833
“วิกฤตราคาพลังงาน” ที่เกิดขึ้นในปี 2565 ยังเป็นปัจจัยที่กดดันการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน สืบเนื่องไปยังปี 2566 และเพื่อให้การขับเคลื่อนแผนงานต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจัดทำแผนปฏิบัติการด้านพลังงาน พ.ศ. 2566 – 2580 หรือ แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan: NEP) เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และมุ่งเน้นส่งเสริมความมั่นคงภาคพลังงานเพื่อรองรับรูปแบบการผลิตและการใช้พลังงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในอนาคต
ชงอนุมัติแผนพลังงานชาติในปี 66
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ระบุว่า แผนการดำเนินงานของ สนพ.ในปี 2566 จะมุ่งเน้นใน 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ 1. แผนพลังงานชาติ และแผนย่อยรายสาขาด้านพลังงาน โดยแผนพลังงานชาติ มีแนวนโยบายที่สำคัญ คือ เพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจากกำลังผลิตใหม่ให้มากกว่า 50%, ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ผ่านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30, เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้ได้มากกว่า 30 – 40%, ปรับโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานตามแนวทาง 4D1E เช่น การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่มีการกระจายตัวและยืดหยุ่น รวมถึงปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแผนย่อยรายสาขาด้านพลังงานทั้งด้านไฟฟ้า ก๊าซ น้ำมัน พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำมาเป็นข้อมูลสำหรับแผนพลังงานชาติ คาดว่าจะเสนอร่างแผนพลังงานชาติภายในปี 2566
ออกมาตรการหนุนลงทุนตั้งรง.ผลิตแบตเตอรี่
2. แผนขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า(EV) ซึ่งทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายเลขาฯบอร์ด EV โดยจะเร่งขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องกำหนดมาตรการสนับสนุนการจัดตั้งสถานีฯ เช่น การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority จะหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)พิจารณาขยายอัตรา Low Priority ไปจนถึงปี 2568, การลดเวลาการขอใบอนุญาต,การให้สิทธิประโยชน์ BOI และการใช้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจน การพัฒนา EV Data platform สำหรับการบริหารจัดการและกำกับดูแลข้อมูลยานยนต์ไฟฟ้า (EV Data Center)
รวมทั้ง การส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV โดยร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการใช้เงินอุดหนุนการผลิตและการใช้แบตเตอรี่สำหรับการลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศ (Demand-linked) ภายในปี 2568 เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทย คาดว่าในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2566 จะมีมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่สำหรับรถEV ออกมาก หลังจากเสนอบอร์ดEV ภายในไตรมาส1 ปี66
ทั้งนี้ ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกมาประกาศ อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้เงื่อนไขการบริหารจัดการแบบ Low Priority ตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 เห็นชอบแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ กำหนดค่าชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 2.63 บาท/หน่วย ค่าบริการอีก 312 บาทต่อเดือน ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าบริการรายเดือน และค่า Ft
ส่วนอัตราตามช่วงเวลาของการใช้ แรงดัน 22 – 33 กิโลโวลท์ ช่วง Peak ค่าพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่ 5.1135 บาท/หน่วย ช่วง Off Peak จะอยู่ที่ 2.6037 บาท/หน่วย ส่วนค่าบริการเท่ากัน 312.24 บาท/เดือน แรงดันที่ต่ำกว่า 22 กิโลโวลท์ ช่วง Peak ค่าพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่ 5.7982 บาท/หน่วย และในช่วง Off Peak จะอยู่ที่ 2.6369 บาท/หน่วย ส่วนค่าบริการเท่ากัน 46.16 บาท/เดือน
ช่วง On Peak วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.00น. – 22.00 น. การคิดค่าไฟฟ้าในช่วงเวลานี้ค่าไฟจะแพง เพราะเป็นช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามาก เนื่องจากการไฟฟ้าต้องเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทุกชนิด ทั้งที่มีราคาถูกและแพง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ
ช่วง Off Peak วันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 22.00 น. – 09.00 น. ,วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 00.00 น. – 24.00 น.และอัตราค่าไฟฟ้าข้างต้น ยังไม่รวมค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย ค่าไฟจึงมีราคาถูก เนื่องจากการไฟฟ้าสามารถเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงราคาถูกได้ ดังนั้น อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ TOU (Time of Use Rate) จึงเป็นอัตราค่าไฟฟ้าที่สะท้อนถึงต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่แท้จริง
โดยอัตราค่าไฟฟ้าประเภทนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือน เมษายน 2564 เป็นต้นไป จนถึงค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม 2566 หรือจนกว่าจะมีประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
3การไฟฟ้าลุยลงทุนสมาร์ทกริด มูลค่า 2.7 แสนลบ.
3. แผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าระยะ 5 ปี (ปี 2565 – 2570) เป็นการบูรณาการการลงทุนและจัดลำดับความสำคัญของโครงการของ 3 การไฟฟ้า ทั้งในส่วนระบบผลิต ระบบส่ง และระบบจำหน่าย โดยหากแผนการพิจารณาของ คณะกรรมการจัดทำแผนบรูณาการฯเรียบร้อยแล้ว ทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ก็จะนำไปพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการต่อไป โดยหลักการแล้ว ตัวโครงการที่สำคัญ หรือมีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท ที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น การเชื่อมต่อโรงไฟฟ้า และการพัฒนาระบบสมาร์ทกริด ตลอดจนรองรับพลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นแผนดำเนินงาน 5 ปี(2565-2570)
เบื้องต้น (ร่าง) แผนบูรณาการการลงทุน Grid Modernization ที่ผ่านการคัดกรองจาก 3 การไฟฟ้า จะมีการลงทุนราว 34 โครงการ มูลค่ารวม 272,090 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของ กฟผ. 16 โครงการ มูลค่ารวม 104,403 ล้านบาท , กฟน. 2 โครงการ มูลค่ารวม 47,361 ล้านบาท และ กฟภ. 16 โครงการ มูลค่ารวม 120,325 ล้านบาท ซึ่งจะนำเสนอคณกรรมการฯชุดใหญ่ที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานพิจารณาต่อไป
การพัฒนาระบบ Big Data
4.การใช้บริการศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ (NEIC) โดยในปี 2566 จะดำเนินการเผยแพร่ข้อมูลที่เข้มข้นมากขึ้น ทั้งในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศในลักษณะ ของ Interactive Dashboard และ Infographic เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน โดยเพิ่มเติม /ต่อยอด จากชุดข้อมูลที่ได้มีการเผยแพร่ในปี 2565 รวมถึง การพัฒนาระบบ Big Data และระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) โดย สนพ. ได้รับงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจาก กกพ. ในการดำเนินโครงการพัฒนาระบบ Big Data และ Data Analytics เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่าง NEIC กับหน่วยงานอื่น รวมทั้งการวิเคราะห์และเผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงาน คาดว่า จะเริ่มดำเนินการในปี 2566 และแล้วเสร็จในปี 2567 (ระยะเวลา 18 เดือน)