ผู้ชมทั้งหมด 952
“ศักดิ์สยาม” สั่งรฟท.ทบทวนแผนเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง พร้อมจัดเวทีสาธารณะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นหาข้อสรุป ส่วนรถไฟสายสีแดงเริ่มเก็บตั๋ว 29 พ.ย. นี้ มั่นใจผู้โดยสารเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีประเด็นการให้บริการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงหลังจากเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการ ว่า ตนได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ทบทวนข้อมูลแผนการเดินรถเข้าสู่สถานีหัวลำโพงให้รอบด้าน โดยพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งมิติการบริหารจราจร และมิติการให้บริการประชาชน โดยพิจารณาการปรับรูปแบบ และจำนวนรถไฟให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน รวมถึงความเป็นไปได้ในการปรับให้ขบวนรถไฟวิ่งนอกชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น
พร้อมกันนี้ยังได้มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเวทีสาธารณะชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และจัดทำข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นนี้ เพื่อหาข้อยุติและแก้ปัญหาให้ได้ทุกมิติ รวมถึงมาตรการเยียวยาต่าง ๆ รวมถึงการให้ข้อมูลด้านการพัฒนาหัวลำโพงให้เห็นภาพรวมทุกประเด็น ทั้งการอนุรักษ์อาคาร และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ รวมถึงการบริหารสถานีกลางบางซื่อ โดยให้พิจารณาข้อมูลการศึกษาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเน้นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
อย่างไรก็ตามเมื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นศูนย์กลางของระบบราง การปรับจำนวนขบวนการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงก็ต้องทยอยปรับลดลง โดยในระยะแรกจะปรับขบวนรถไฟเหลือ 22 ขบวนต่อวันจากเดิม 118 ขบวนต่อวัน ซึ่งไม่ได้หยุดวิ่งทั้งหมดเลยในทันที ซึ่งก็ได้ให้ รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนกันให้ชัดเจนก่อนว่าการลดเหลือ 22 ขบวนจะเกิดผลกระทบกับประชาชนอย่างไร หรืออาจจะพิจารณาปรับเวลาการเดินรถไม่ให้กระทบช่วงเร่งด่วน ซึ่งการปรับขบวนการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงลดลงนั้นจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดได้เป็นอย่างดี
ส่วนกรณีที่มีความกังวลเรื่องที่ประชาชนจะได้รับผลกระทบจาการปรับลดจำนวนขบวนรถไฟวิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง นั้นก็ได้มีการหารือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้นำรถขสมก. วิ่งให้บริการเส้นทางสถานีกลางบางซื่อเชื่อมสถานีหัวลำโพง เพื่อให้บริการประชาชน นอกจากนี้แล้วประชาชนยังสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินได้หากจะเดินทางไปหัวลำโพง
สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีหัวลำโพงนั้นก็เป็นแผนของ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เป็นบริษัทลูกของรฟท. ที่เสอนเข้ามาให้พิจารณา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสถานีหัวลำโพงเท่านั่น แต่ยังมีพื้นที่อื่นขจองรฟท.ด้วยที่อยู่ในแผนพัฒนาเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นสถานีธนบุรีที่จะพัฒนาร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช พื้นที่อาร์ซีเอ พื้นที่สถานีแม่น้ำ เป็นต้น โดยในเบื้องต้น จากการประเมินของ SRTA คาดว่าในปีแรกจะมีรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ราว 5,000 ล้านบาท และในปีที่ 5 เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีรายได้กว่า 800,000 ล้านบาทในระยะเวลา 30 ปี
การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป็นแนวทางหนึ่งของการลดภาระหนี้สิน และหยุดการขาดทุนของรฟท. ซึ่งปัจจุบันมีหนี้อยู่ประมาณ 150,000 – 160,000 ล้านบาท หากคิดเป็นจำนวนหนี้รวมที่ไม่ได้ลงบัญชีนั้นรฟท.มีหนี้สินถึง 600,000 ล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จึงเป็นโจทย์สำคัญในการแก้ปัญหาการขาดทุน และลดภาระหนี้สิน ของรฟท. ได้เป็นอย่างดี
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงการเริ่มเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมียอดผู้โดยสารโดยเฉลี่ยวันละ 8,817 คน ซึ่งมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ปรับปรุงเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อรองรับการเดินทางของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) รวมถึงรถไฟทางไกลและรถไฟชานเมืองแล้ว ซึ่งตารางการเดินรถจะสอดคล้องกับตารางรถไฟ เพื่อความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง
ส่วนการเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ในด้านการอำนวยความสะดวกประชาชนในช่วงแรกในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง ให้ดำเนินการจัดหารถ Mobile Kiosk ที่มีความทันสมัยเพื่อให้บริการประชาชนที่ประชุมได้รับทราบผลการกำหนดอัตราค่าโดยสาร ความพร้อมเข้าสู่ระบบตั๋วร่วม บัตรโดยสารในการเดินทางร่วม โดยกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยใน 3 ปีแรก (2565-2568) ที่เปิดให้บริการจะมีค่าแรกเข้า 12 บาท และอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง 1.5 บาท อัตราค่าโดยสารสูงสุดในการเดินทางหนึ่งเที่ยว ไม่เกิน 42 บาทตลอดสายรวมทั้งสองช่วง เมื่อถึงปีที่เอกชนดำเนินการให้เสนอใช้อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ รฟท. จะได้ประชาสัมพันธ์ตารางอัตราค่าโดยสาร (Fare Table) ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าต่อไป สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร 30 วัน (ตั๋วเดือน) สำหรับบุคคลทั่วไป จะมีราคาเฉลี่ยต่อเที่ยว 25-35 บาท พร้อมจัดโปรโมชั่นส่วนลดการเดินทางสำหรับเด็ก นักเรียน โดยเด็กส่วนสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร ได้รับยกเว้นค่าโดยสาร เด็กซึ่งมีอายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 91-120 ซม.ได้รับส่วนลดร้อยละ 50 จากอัตราค่าโดยสารปกติ พร้อมทั้งมีบัตรโดยสารสำหรับนักเรียน/นักศึกษา (Student Card) อายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดร้อยละ 10 จากอัตราค่าโดยสารปกติผู้สูงอายุ อายุ 60 ปีขึ้นไป และพระภิกษุ ได้รับส่วนลดร้อยละ 50 จากอัตราค่าโดยสารปกติ รวมทั้งผู้พิการจะได้รับยกเว้นค่าโดยสาร