“ศักดิ์สยาม” เร่งเปิดชิงสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีแดง 6 เส้นปีนี้มูลค่ารวม 4.48 แสนล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 580 

“ศักดิ์สยาม” เร่งเปิดประมูลสัมปทานบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง 6 เส้นทาง ปีนี้ มูลค่ารวมกว่า 4.48 แสนล้านบาท พร้อมประมูลงานโยธาก่อสร้างส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง พ.ค. 65 คาดลงนามผู้รับเหมา ต.ค.65

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางวงเงินลงทุนรวมกว่า 64,836 ล้านบาทนั้นจะเริ่มทยอยเปิดประกวดราคางานก่อสร้างโยธาในเดือนพฤษภาคม 2565 ก่อน 3 เส้นทาง ซึ่งประกอบด้วย 1.สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,407 ล้านบาท

2.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา และสถานีเพิ่มเติม ประกอบด้วย สถานีพระราม 6 สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และสถานีบ้านฉิมพลี ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,197 ล้านบาท และ 3.สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 6,193 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการคาดว่าจะได้ผู้รับเหมาในเดือนตุลาคม 2565 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างต้นปี 2566 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดบริการปี 2569 

ส่วนเส้นที่ 4.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ- หัวลำโพง หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม. ทางวิ่งเป็นระดับดิน, ยกระดับ และใต้ดิน มี 9 สถานี ผู้โดยสาร 7 หมื่นคนต่อวัน วงเงิน 42,039 ล้านบาท อยู่ระหว่างการปรับแบบคาดว่าประมูลได้ปลายปีนี้

อย่างไรก็ตามส่วนต่อขยาย 4 เส้นทางนั้นได้มีการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างเสร็จแล้ว รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว มีเพียงช่วง รังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต อยู่ระหว่างการพิจารณา

นายคณพศ วชิรกำธร ที่ปรึกษาจัดทำโครงการศึกษา ทบทวนและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงาน ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุน ระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ของโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งโครงการที่เปิดเดินรถอยู่ในปัจจุบัน 2 เส้นทาง คือ 1. ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กิโลเมตร (กม.) และ 2.ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม. และเส้นทางส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง ยังไม่ได้ก่อสร้างนั้นจะต้องเปิดประมูลจัดหาเอกชนมาสัมปทานบริหารจัดการเดินรถ โดยเป็นการร่วมลงทุนรูปแบบ PPP Net Cost 

สำหรับการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost  แบ่งเป็นรัฐจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งานโยธา และงานระบบ ส่วนเอกชนจัดหาขบวนรถ เดินรถ และจัดเก็บรายได้ โดยชำระค่าสัมปทาน และผลตอบแทนให้แก่รัฐ โดยมีอายุสัญญาสัมปทาน 50 ปี มูลค่าการลงทุนรวม 4.48 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา งานระบบ และจัดหาขบวนรถ 1.88 แสนล้านบาท, การดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 2.22 แสนล้านบาท และงานเพิ่มเติม 3.87 หมื่นล้านบาท 

อย่างไรก็ตามรายละเอียดเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) มี 5 ซองข้อเสนอ ได้แก่1.ซองเปิดผนึก, 2.ซองปิดผนึก ซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ, 3.ซองปิดผนึก ซองที่ 2 ด้านเทคนิค, 4.ซองปิดผนึก ซองที่ 3 ด้านการเงิน ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอรายใดให้ผลประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงินกับ รฟท. สูงสุด จะเป็นผู้ชนะประมูล และ5.ซองปิดผนึก ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ต้องเป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน ซึ่งซองนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเปิดซองหรือไม่เปิดก็ได้

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ปริมาณผู้โดยสารคาดว่าเมื่อเปิดให้บริการครบทั้ง 6 เส้นทาง จะมีผู้โดยสาร 4 แสนคนต่อวัน และปีเปิดที่ 50 จะมีผู้ใช้บริการ 1.3 ล้านคนต่อวัน โดยมีผลตอบแทนโครงการ 50 ปี มีรายได้ประมาณ 5.8 แสนล้านบาท โดยจากการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ความคุ้มค่าโครงการอัตราผลตอบแทนทางการเงิน (EIRR) 30.96% ถือว่ามีความคุ้มค่าต่อการลงทุน