ผู้ชมทั้งหมด 1,127
“ศักดิ์สยาม” ผลักดันระบบบริการข่าวสารการบินแบบดิจิทัล สั่ง CAAT เตรียมพร้อมรับเปิดประเทศใน 120 เร่งช่วยเหลือสายการบินให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ พิจารณาอนุญาตโดรนขนาดใหญ่น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมให้บินได้อย่างถูกกฎหมาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ครั้งที่ 9/2564 ว่า ตนได้ติดตามความคืบหน้าการพัฒนางานด้านการบริหารข่าวสารการบินของประเทศไทยให้ไปสู่ระบบมาตรฐานสากล โดยพัฒนาระบบบริการข่าวสารการบินไปสู่การบริหารข่าวสารการบินแบบดิจิทัล เพื่อต่อยอดการพัฒนาสำหรับการเชื่อมต่อกับ SWIM หรือ System Wide Information Management ซึ่งเป็นโครงข่ายอินเทอร์เน็ตการบินของโลกที่มีการบริหารจัดการข่าวสารการบินทั้งระบบที่จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการเติบโตของการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต และเชื่อมโยงระบบการบริหารข่าวสารการบินตามมาตรฐานสากลซึ่งสอดคล้องกับแผนการเดินอากาศสากลของ ICAO และของภูมิภาค
อย่างไรก็ตามสำหรับความคืบหน้าล่าสุดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ได้จัดทำแผนดำเนินการพัฒนางานด้านการบริหารข่าวสารการบิน (Aeronautical Information Management: AIM) และเสนอต่อ กบร. ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ประชุมเน้นย้ำให้ดำเนินการตามระเบียบ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี (ครม.)
พร้อมทั้งศึกษาตัวอย่างจากประเทศอื่นเป็นต้นแบบ เช่น สิงคโปร์ รวมถึงเร่งรัดกรอบการดำเนินการ โดย CAAT รับข้อสั่งการไปดำเนินการตามแผนให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล มีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่ครบถ้วน เพื่อให้การบริการข่าวสารการบินของประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเปิดให้มีนิติบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการข่าวสารการบิน (AIS Provider) แทน CAAT
โดยหลังจากนี้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนมีนาคม 2565 CAAT จะดำเนินการตามแผนฯ รวมถึงตรวจสอบออกใบรับรองให้นิติบุคคลเป็น AIS Provider แทนคาดว่าในกลางปีหน้าประมาณเดือนมิถุนายน 2565 CAAT จะสามารถส่งมอบ และถ่ายโอนงานให้นิติบุคคลดำเนินงานได้ โดยตั้งเป้าหมายการพัฒนาต่อไปสู่การบริหารจัดการข่าวสารการบินทั้งระบบ (SWIM) ในปี 2567
การเตรียมความพร้อมตามนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ตนยังได้มอบนโยบายให้ CAAT ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการรองรับนโยบายการเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ถือเป็นการเปิดครั้งใหญ่ที่สุดทั้งเฟส 2 และเฟส 3 รวม 26 จังหวัด รองรับการท่องเที่ยวทั้งของคนไทยและต่างชาติกระจายไปยังทุกภูมิภาคของประเทศ ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (High Season) อีกด้วย โดยให้นำบทเรียนจากโครงการแซนด์บ็อกซ์ที่เปิดก่อนหน้ามาปรับปรุงแก้ไขและเร่งดำเนินการตามนโยบายการบินวิถีใหม่ (New Normal) ที่จะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในกิจการการบินให้สามารถนำมาเริ่มใช้ได้โดยเร็ว
นอกจากนั้นยังได้มอบนโยบายให้ CAAT เป็นศูนย์กลางดำเนินการร่วมกับกระทรวงคมนาคม ในการประสานงานและเตรียมการเพื่อให้บุคลากรทางการบินซึ่งปฏิบัติงานสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้โดยสารได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการปฏิบัติการบิน โดยเฉพาะในช่วงการเปิดประเทศในเดือนตุลาคมนี้ด้วย
การช่วยเหลือสายการบินให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
พร้อมกันนี้ตนยังได้ให้ CAAT เร่งรัดดำเนินการเพื่อให้มีข้อมูลวิเคราะห์เชิงลึกถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคและการสูญเสียความสามารถด้านกิจการการบินของประเทศ โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป เพื่อเสนอข้อมูลต่อ ครม. พิจารณาให้ความช่วยเหลือสายการบินให้ได้รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) โดยเร็ว
การยกระดับประเทศไทยกลับคืนสู่ Category 1 โดย FAA
ทั้งนี้ที่ประชุม กบร. ยังเน้นย้ำให้ CAAT เร่งรัดดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องที่ได้รับจากการตรวจประเมินตามโครงการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยตามการประเมินความปลอดภัยการบินระหว่างประเทศ (IASA: International Aviation Safety Assessment) ขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) โดยมีเป้าหมายเดิมคือเพื่อยกระดับประเทศไทยกลับคืนสู่ Category 1 ภายในปี 2564
การกลับสู่ Category 1จะทำให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่ระบบการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนเป็นไปตามมาตรฐานของ FAA IASA ซึ่งจะส่งผลดีให้สายการบินของไทยบินตรงไปยังสหรัฐฯ ได้และทำการบินร่วมได้ตามปกติ (Code Sharing) รวมถึงยังจะส่งผลต่อการขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินจากไทยไปยังประเทศอื่นที่ยึดถือผลประเมินของ FAA ด้วย เช่น เกาหลีใต้ เป็นต้น
เร่งรัด CAAT พิจารณาอนุญาตโดรน
ขณะที่ความคืบหน้าที่ กบร. ให้ CAAT เร่งรัดแก้ไขกฎระเบียบการอนุญาตโดรนขนาดใหญ่ (น้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัมขึ้นไป) ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเพื่อการเกษตร ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้ยื่นขออนุญาตเข้ามาเป็นจำนวนมาก ภายในเดือนนี้ CAAT จะทยอยขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ผู้ยื่นขออนุญาตที่มีความพร้อมสามารถใช้โดรนเพื่อการเกษตรได้อย่างถูกกฎหมายภายในเดือนตุลาคม 2564
ส่วนโดรนที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ที่ประชุมได้รับรายงานว่า CAAT ปัจจุบันไม่มีคำขออนุญาตคงค้างเป็นจำนวนมากและใช้เวลาเกินกว่าที่กำหนดแล้วตามนโยบาย Set Zero โดยสามารถทยอยขึ้นทะเบียนได้ตามขั้นตอนและกรอบเวลาที่กำหนดตามปกติ