ผู้ชมทั้งหมด 1,344
“ราคาพลังงานผันผวน” กลายเป็นวิกฤตระลอกใหม่ที่คนไทยและทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคในการดำรงชีวิต เพราะราคาพลังงานถือเป็นต้นทุนกว่า 70% ของสินค้าและบริการ โดยจุดเริ่มต้นของวิกฤตพลังงานในรอบนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกและประเทศไทย กำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ฉุดรั้งการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ และส่งผลให้การใช้ชีวิตลำบากมากขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปี
แต่แล้วทุกประเทศทั่วโลก กลับถูกซ้ำเติมด้วย วิกฤตราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว จากมาตรการของกลุ่มโอเปกพลัส ที่คงเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน และตามมาด้วยปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ในช่วงเดือน ก.พ.2565 ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานสูงขึ้นอีกยกแผง ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ปัจจัยเหล่านี้ กดดันต้นทุนสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ปี พ.ศ.2565 จึงกลายเป็นปีที่ “ประเทศผู้นำเข้าพลังงาน” ต้องเผชิญกับ “วิกฤติราคาพลังงานแพง” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่จะฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก จึงต้องระดมออกมาตรการประหยัดพลังงาน เพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งนี้ โดยเฉพาะในยุโรป และแถบเอเชียที่เป็นทั้งประเทศผู้นำเข้าและผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ของโลก
สหภาพยุโรป ออกมาตรการรับมือคว่ำบาตรรัสเซีย
ภายหลังจาก สหภาพยุโรป(อียู) ประกาศคว่ำบาตร “รัสเซีย” โดยทาง รัสเซียได้ตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปโดยการลดการส่งออกก๊าซฯผ่านท่อส่ง Nord Stream1 ลง 20% เป็นเหตุให้สหภาพยุโรป ต่างออกมาตรการ รับมือกับการขาดแคลนพลังงานที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
เยอรมนี ได้ปรับลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียลงเหลือเพียง 35% จากเดิมพึ่งพาน้ำเข้ามากถึง 55% และมีแผนจะยุติการนำเข้าทั้งหมด โดยรัฐบาลเยอรมนี ได้อนุมัติมาตรการประหยัดพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่กำลังจากมาถึงนี้ ซึ่งจะจำกัดการใช้ไฟฟ้าภายในอาคารสาธารณะ และอาคารสำนักงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้เป็นต้นไป อาคารสาธารณะที่นอกเหนือจากโรงพยาบาลจะต้องจำกัดอุณหภูมิเครื่องทำความร้อนอยู่ที่ 19 องศาเซลเซียส รวมถึงบริเวณห้องโถงทางเดินจะต้องงดใช้เครื่องทำความร้อน อีกทั้ง จะหันมาใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของรถไฟทดแทนการใช้น้ำมัน
โปแลนด์ รัฐบาลได้วางแผนจะสนับสนุนงบประมาณมูลค่ากว่า 1,000 ล้านยูโร ให้กับโครงการ Clean air program โดยให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนสำหรับการติดตั้งระบบฉนวนของบ้านและระบบทำความร้อนที่มีประสิทธิภาพสำหรับครัวเรือน เพื่อรับมือสภาวะขาดแคลนถ่านหินเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า หลังโปแลนด์ยุติการนำเข้าก๊าซฯจากรัสเซียทั้งหมด 100%
ฝรั่งเศส รัฐบาลได้ออกมาตรการประหยัดพลังงาน โดยให้ห้างร้านต่างๆ ร่วมมือปิดประตูเข้า-ออก ในขณะเปิดเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความร้อน และห้ามเปิดใช้ป้ายโฆษณาที่ใช้ไฟฟ้าส่องสว่างในทุกเมือง ระหว่าง ช่วงเวลา 1.00 น.ถึง 6.00 น. โดยเป็นมาตรการที่บังคับใช้กับเมืองที่มีประชากรน้อยกว่า 800,000 คน
นอกจากนี้ รัฐบาลฝรั่งเศส ยังอยู่ระหว่างดำเนินการร่างแผนงานที่เกี่ยวข้อง หลังประกาศแผนพลังงาน “energy sobriety” ในช่วงกลางเดือนก.ค.2565 เพื่อผลักดันใช้เกิดมาตรการประหยัด ให้บรรลุเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 10% ภายในปี 2567 เทีบกับปี 2562
อิตาลี รัฐบาลกำลังเร่งร่างแผนประหยัดพลังงานในสภาวะฉุกเฉิน (emergency savings plan) ประกอบด้วย มาตรการการจำกัดการเปิดเครื่องทำความร้อนที่อุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสในฤดูหนาว และเปิดเครื่องปรับอากาศที่อุณหภูมิ 27 องศาเซลเซียสในฤดูร้อน ลดการเปิดไฟฟ้าริมถนนในเวลากลางคืน และปิดร้านค้าก่อนเวลาปกติ ทั้งนี้ การลดอุณหภูมิความร้อนของฮีทเตอร์ภายในอาคารลง 1 องศาเซลเซียส สามารถประหยัดก๊าซฯได้ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
แถบเอเชียฯ เร่งแผนลดใช้พลังงาน
จากปัญหาต้นทุนราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับ “ภาวะโลกร้อน” ที่ส่งผลให้อุณหภูมิของหลายประเทศทั่วโลกปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
จีน ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญของแถบเอเชียฯ ที่มีประชากรจำนวนมากและเป็นผู้ใช้พลังงานรายใหญ่ เผชิญปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้แม่น้ำหลายสายเกิดภาวะแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอผลิตกระแสไฟฟ้า รัฐบาลจึงได้เร่งรณรงค์ประหยัดพลังงานในปี 2565 ในหลายเมืองและหลายมาตรการ เช่น เมืองเฉิงตู กำหนดให้ปิดไฟตกแต่งภูมิทัศน์นอกอาคาร โฆษณานอกอาคาร รวมถึงระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้าใต้ดินและป้ายชื่อของอาคารต่างๆ เพื่อประหยัดไฟฟ้า
มณฑลเสฉวน สั่งปิดโรงงานส่วนใหญ่เพื่อประหยัดไฟฟ้านาน 6 วัน รวมถึงสั่งปิดเครื่องปรับอากาศ ลิฟต์ และไฟในสำนักงานและห้างสรรพสินค้าด้วย นอกจากนี้ จีนขยายเวลามาตรการปันส่วนไฟฟ้าและการประหยัดไฟเพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอสำหรับครัวเรือนในบางพื้นที่ของประเทศ เป็นต้น
ญี่ปุ่น เจอสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูง และคาดว่าจะเกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนและฤดูหนาว รัฐบาลจึงกำหนดให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจต้องเข้าสู่ช่วงเวลาประหยัดไฟฟ้านาน 3 เดือน นับตั้งแต่ 1 ก.ค.65 เป็นต้นไป เพื่อป้องกันขาดแคลนไฟฟ้าหลังอากาศร้อนจัด ซึ่งมาตรการนี้ได้หยิบขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกในรอบ 7ปี
อีกทั้ง รัฐบาล ยังปรับนโยบายพลังงานครั้งใหญ่ โดยหันกลับมาใช้นิวเคลียร์ผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพื่อบรรเทาวิกฤตราคาพลังงานพุ่งสูงและผลกระทบจากสงครามยูเครน
อาเซียน อัดงบสนับสนุนแคมเปญประหยัดพลังงาน
อินโดนีเซีย รัฐบาลได้เพิ่มเงินอุดหนุนด้านพลังงานของปี 2565 มากถึงสามเท่าตัวเป็นจำนวน 502 ล้านล้านรูเปียร์ คิดเป็น 16%ของงบประมาณของประเทศ สำหรับชดเชยงบประมาณด้านพลังงานที่ถูกโยกมาก่อนหน้านี้
กัมพูชา อนุมัติให้รัฐบาลให้เงินอุดหนุนการไฟฟ้าแห่งกัมพูชา(EDC) มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ในปี2565 เพื่อรักษาอัตราค่าไฟฟ้าให้คงที่ และเรียกร้องให้ประชาชนประหยัดไฟ
สิงคโปร์ ออกมาตรการประหยัดพลังงาน เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอดไฟ LED และพลังงานแสงอาทิตย์ในเมือง HDB หวังจะช่วยลดการใช้พลังงานลง 15% ในปี 2573 เป็นต้น
เวียดนาม รัฐบาลได้ร่างแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยประสิทธิภาพพลังงาน การประหยัด และการอนุรักษ์ทรัพยากรพลังงานฯ รับมือกับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น 10% คาดประหยัดได้ 8-10%ของการใช้พลังงานทั่วประเทศ
ไทย ตั้งเป้าประหยัดการใช้พลังงาน 20%
หลายประเทศทั่วโลก ต่างตระหนักถึงผลกระทบ “วิกฤตราคาพลังงานแพง” และเร่งออกมาตรการในหลายรูปแบบ เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชากร ประเทศไทย ก็ไม่ต่างจากประเทศเหล่านั้น ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ซ้ำร้าย! ไทยยังต้องเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานในประเทศ เมื่อกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ซึ่งเป็นผลพวงจากช่วงเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมในช่วงเดือน เม.ย.2565 ทำให้ปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ในประเทศหายไปจากระบบประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จนต้องนำเข้าเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ปีนี้ อัตราค่าไฟฟ้าของไทยแพงสูดเป็นประวัติการณ์ โดยรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 ประชาชนจะต้องจ่ายไฟฟ้าอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย และยังมีแนวโน้มแพงขึ้นอีกในงวดสุดท้ายของปี2565 (เดือน ก.ย.-ธ.ค.)
การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2565 เห็นชอบมาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐ โดยอนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ลดการใช้พลังงาน 20% (รวมไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง) ขณะที่กระทรวงพลังงาน เร่งปรับแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงควบคู่กับการดำเนินมาตรการประหยัดอย่างเข้มข้น และดำเนินมาตรการต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้
มาตรการลดใช้พลังงานด้านไฟฟ้า
– ให้หน่วยงานราชการจัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประสิทธิภาพเบอร์ 5
– กำหนดเวลาเปิด – ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 8.30 – 16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 – 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
– กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย และรณรงค์ขึ้น – ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์
– พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์
มาตรการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
– ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
– ให้พนักงานขับรถยนต์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัด และขับรถในอัตราความเร็วที่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
– เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทาง และจำนวนผู้เดินทาง
กระทรวงพลังงาน คาดหวังว่า หากหน่วยงานราชการลดการใช้พลังงาน 20% ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 คาดว่า จะลดการใช้ไฟฟ้าได้ 120 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 600 ล้านบาท (ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 70,800 ตัน เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (ไฟฟ้า 1 หน่วย = 0.590 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์)
และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นเงินมูลค่า 420 ล้านบาท (ค่าน้ำมันคิดเฉลี่ยหน่วยละ 35 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26,275 ตัน เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (เบนซิน 1 ลิตร = 2.1896 กิโลกรัม เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์)
หรือ รวมลดปริมาณการใช้พลังงานลง คิดเป็นมูลค่าประหยัดได้ 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97,075 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้ “วิกฤตราคาพลังงานแพง” ไม่ใช่ วิกฤตที่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่กลายเป็นวิกฤตที่ทั่วโลกพร้อมใจกันวางแนวทางเพื่อรับมือ และ “มาตรการประหยัดพลังงาน” ก็เป็นมาตรการสำคัญที่หลายประเทศหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ เพราะเป็นมาตรการที่สามารถดำเนินการได้ทันที ยิ่งใช้พลังงานน้อยลงก็เท่ากับยิ่งช่วยชาติประหยัดมากขึ้น