ลุ้นคำตอบ 1-2 วันนี้ “รัฐ” ลดค่าไฟช่วยเอกชน

ผู้ชมทั้งหมด 1,287 

“สุพัฒนพงษ์” ลั่น เตรียมปรับลดค่าไฟFt ให้กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) ลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ในรอบบิลค่าไฟฟ้า ม.ค. – เม.ย. 66 คาดชัดเจน 1-2 วันนี้ พร้อมขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ หั่นดอกเบี้ยลดต้นทุนธุรกิจ ขอเอกชน ร่วมบริหารจัดการเชื้อเพลิงและประหยัดพลังงานช่วยชาติกดต้นทุนค่าไฟ เล็งให้ส่วนลดค่าไฟแบบขั้นบันไดสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย หากปตท.มีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า แนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดแรกปี 2566 (ม.ค. – เม.ย.) สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ(ที่ไม่ใช่บ้านอยู่อาศัย) ลงจาก 5.69 บาทต่อหน่วย ตามเสียงเรียกร้องของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น เบื้องต้นได้หารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ให้รับทราบนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยลดภาระให้กับกลุ่มดังกล่าวแล้ว และขณะนี้ ทางกกพ.อยู่ระหว่างพิจารณาแนวทางและอัตราที่เหมาะสม คาดว่า ค่าFt ของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น จะลดลงจากอัตรา 190.44 สตางค์ต่อหน่วยได้ แต่จะลดลงได้มากน้อยระดับใด ยังต้องรอความชัดเจนจากกกพ.ที่น่าจะมีคำตอบภายใน 1-2 วันนี้

นายกฯ สั่งผมมาให้ลดราคาเพื่อบรรเทาผลกระทบ และผมก็พร้อมคุยกับเอกชน อยากให้มาคุยแบบมีคำตอบร่วมกัน ซึ่งถ้าธนาคารพาณิชย์ ช่วยลดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรม รวมถึง ส.อ.ท.ร่วมมือลดใช้พลังงาน และบริหารจัดการใช้พลังงานเพื่อลดการใช้ก๊าซฯลด ก็จะทำให้ค่าไฟลดลงไปได้ ขระเดียวกันในส่วนของ กฟผ.เอง เขาก็พร้อมช่วยเหลือในการแบกรับภาระการเงินและหนี้สินสะสม ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 150,000 ล้านบาทไปก่อนได้ ทางปตท.เองก็เชื่อว่าจะพิจารณาช่วยเหลือตามกรอบที่ทำได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนบ้านนอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150หน่วยต่อเดือนนั้น ภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือต่อ แต่ในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือนที่เดิมแค่ช่วยเหลือแบบให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าแบบขั้นบันได จะได้รับการช่วยเหลือต่อหรือไม่ ยังต้องรอความชัดเจนจากทางบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาแนวทางจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมมาช่วยเหลือเพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เมื่อ25 พ.ย.65 ขอความร่วมมือจาก ปตท.ให้พิจารณาจัดสรรรายได้จากการดำเนินธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ 1,500 ล้านบาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 4 เดือน(ม.ค.-เม.ย.66) หรือวงเงินรวม 6,000 ล้านบาทนั้น แนวทางนี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจาก ปตท.

ทั้งนี้ เชื่อว่า หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานร่วมมือกัน เพื่อลดต้นทุนก็จะทำให้ทุกคนในประเทศรอดพ้นจากวิกฤตราคาพลังงานแพงไปได้

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ในปี 2566 ปริมาณการผลิตก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณ(G1/61) ที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณก๊าซฯลดต่ำกว่าแผนที่ตั้งเป้าไว้ จะต้องผลิตให้ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ก็จะกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงเดือนก.ค.2566 และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในช่วงปลายปี 2566 และเพิ่มเป็น 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนเม.ย. 2567 จากปัจจุบัน อยู่ที่กว่า 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ก็จะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาแพงมาผลิตไฟฟ้าลดลงได้ ขณะเดียวกัน ในปี2566 แหล่งบงกช จะผลิตก๊าซฯภายใต้ระบบPSC เต็มรูปแบบ จะส่งผลให้ราคาก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงตามสัญญาPSC ถูกลงอยู่ที่ประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู จากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 8 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ก็น่าจะทำให้ราคาก๊าซฯเฉลี่ยในประเทศถูกลงได้ ก็เป็นปัจจัยบวกต่อค่าไฟฟ้าในปีหน้า