ผู้ชมทั้งหมด 761
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังตลาดผ่อนคลายความกังวลต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 75 – 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 82 – 92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ระหว่างวันที่ 13 ก.พ. – 17 ก.พ. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังสุนทรพจน์ของประธานเฟด ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงเนื่องจากผ่อนคลายความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่ตัวเลขการขับขี่ในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เช่นเดียวกับการขับขี่ในจีนซึ่งมีแนวโน้มฟื้นตัว สนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันโลก
นอกจากนี้ ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ตึงตัว หลังท่าเรือ Ceyhan ประเทศตุรกี หยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 7 ติดต่อกัน สู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 66
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ฯ (FED) กล่าวในการประชุม Economic Club of Washington ว่าอัตราเงินเฟ้อมีสัญญาณชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายด้วยอัตราที่ช้าลง จากระดับปัจจุบันที่ระดับ 4.50 – 4.75 % สู่ระดับเป้าหมาย 5.00 – 5.25% ในปีนี้ ซึ่งคำกล่าวของประธาน FED สอดคล้องกับมุมมองของรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ ซึ่งมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและกดดันต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำมันโลก
- Rystad รายงานการจราจรในยุโรป (European Road Traffic) และภูมิภาคอเมริกาเหนือ (North American Road Traffic) ในเดือน ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 62 ราว 2 และ 1.5 % ตามลำดับ และคาดว่าการจราจรในจีน (Chinese Road Traffic) มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐบาลผ่อนคลายนโยบายการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกให้มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น
- เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ระดับ 7.8 ริกเตอร์ ในตุรกี เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าเรือ Ceyhan ซึ่งมีปริมาณการส่งออกน้ำมันมากกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว โดยท่าเรือดังกล่าวมีการรับน้ำมันจากท่อ Baku-Tbilisi-Ceyhan (BTC) ซึ่งเชื่อมจากอาร์เซอร์ไบจานมายังอิรักที่ระดับ 0.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ BP Azerbaijan ประกาศเหตุสุดวิสัยเมื่อวันที่ 7 ก.พ. อย่างไรก็ตาม ท่อน้ำมันซึ่งเชื่อมจากอิรักมายังตุรกี ซึ่งมีปริมาณการขนส่งที่ระดับ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ
- EIA รายงานปริมาณสต๊อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดสัปดาห์ ณ วันที่ 3 ก.พ. 66 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.4 ล้านบาร์เรล นับเป็นการปรับขึ้น 7 สัปดาห์ติดต่อกัน สู่ระดับ 455.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ มิ.ย. 64 เนื่องจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่ เม.ย. 63 ขณะที่การนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนนาดาปรับเพิ่มขึ้น หลังท่อส่งน้ำมัน Keystone ซึ่งปิดซ่อมบำรุงนับตั้งแต่ ธ.ค. 65 กลับมาดำเนินการตามปกติ นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียล่าสุดยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. 66 ที่ระดับ 9.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- เศรษฐกิจน่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือน ม.ค. 66 ซึ่งตลาดคาดมีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 6.2 % และตัวเลขยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 66
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 75 – 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 82 – 92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 6 – 10 ก.พ. 66 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 5.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 5.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 86.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 83.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวในการประชุม Economic Club of Washington ว่าภาวะเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้นักลงทุนผ่อนคลายความกังวลในเรื่องปรับอัตราดอกเบี้ย นอกจากนี้ตลาดยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากความกังวลต่ออุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้นหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในตุรกี ส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินและดีเซลคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าคาด โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 และ 2.9 ล้านบาร์เรล ตามลำดับ