ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจผันผวน เหตุความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และลิเบียยังคุกรุ่น

ผู้ชมทั้งหมด 530 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มผันผวนจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และลิเบียที่ยังคงคุกรุ่นท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มชะลอตัว คาดเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 2 ก.ย. – 6 ก.ย. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนเนื่องจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดกังวลความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันดิบในลิเบียหยุดชะงักจากการประกาศยับยั้งการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบ นอกจากนี้ Fed มีความหวังปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน ก.ย. 67 อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีนยังคงชะลอตัว ส่งผลให้โกลด์แมนแซคส์ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

▪ สถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางยังคงร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง และไม่มีท่าทีจะสงบ เนื่องจากอิสราเอลส่งเครื่องบินรบกว่า 100 ลำ โจมตีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในพื้นที่ตอนใต้ของเลบานอน หลังจากนั้นทางกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ได้ตอบโต้ด้วยการยิงจรวดกว่า 200 ลูก เข้าใส่อิสราเอล ถือเป็นการปะทะครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในรอบกว่า 10 เดือน นอกจากนั้นแล้วกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ยังประกาศที่จะสู้รบกับอิสราเอลต่อไปจนกว่าอิสราเอลจะยอมรับเงื่อนไขข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา ส่งผลให้อุปทานน้ำมันโลก 3-4% ตกอยู่ในความเสี่ยงขึ้นอีกครั้ง

▪ ตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่ออุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวเนื่องจากกองกำลัง Libyan National Army (LNA) ซึ่งเป็นขั้วอำนาจทางการเมืองฝั่งตะวันออกของลิเบียประกาศจะยับยั้งการดำเนินงานการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบในพื้นที่ซึ่ง LNA ควบคุม (บริเวณเกือบทั้งหมดของโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของลิเบีย 130 KBD) ขณะที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลกลางควบคุม ปัจจุบันแหล่งผลิต El Feel ดำเนินการในระดับปกติ ทั้งนี้ Reuters เผยลิเบียผลิตน้ำมันดิบเดือน ก.ค. 67 ปริมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ Citi คาดอุปทานอาจลดลง 0.6-0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน

▪ ตลาดจับตานโยบายการปรับอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) โดยล่าสุด Mary Daly ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) สาขา San Francisco ส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ Fed จะมีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากระดับปัจจุบันที่ 5.25-5.5% ในการประชุมนโยบายทางการเงิน (FOMC) กลางเดือน ก.ย. 67

▪ ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความกังวลของการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และจีนเนื่องจากอัตราการว่างงานสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 4.3% ซึ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ในเดือน ส.ค. 67 ส่งผลให้นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มการคาดการณ์ของโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จาก 20% เป็น 25% ซึ่งอาจกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ นอกจากนี้ โกลด์แมนแซคส์ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จาก 82 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล สู่ 77 เหรียญสหรัฐฯ /บาร์เรล ในปี 68

▪ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ตัวเลขส่งออกเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขนำเข้าเดือน ก.ค. 67 ตัวเลขการจ้างงานเดือน ก.ค. 67 และอัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 67 เศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค. 67 ยอดขายปลีกเดือน ก.ค. 67 อัตราการเติบโตจีดีพีไตรมาสต์ 2 และอัตราการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานไตรมาสต์ 2 และเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ตัวเลขการส่งออกเดือน ส.ค. 67 ตัวเลขการนำเข้าเดือน ส.ค. 67 อัตราเงินเฟ้อ เดือน ส.ค. 67 และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน ก.ค. 67

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 70-80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 74-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 26 ส.ค.- 30 ส.ค. 67 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 78.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากในวันที่ 26 ส.ค. 67 ธนาคารกลางของลิเบีย ระงับการดำเนินการผลิต และส่งออกน้ำมันดิบ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพราะความขัดข้องที่เป็นผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีความพยายามในการยึดตำแหน่งประธานธนาคารกลางจากนาย Sadiq al-Kabir 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันในจีนยังคงอ่อนแอ โดยมีการเปิดเผยข้อมูลการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนจากรัสเซียลดลงเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันเหลือ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน ส่งผลให้การนำเข้าน้ำมันดิบของจีนในเดือน ก.ค. ลง 3.1% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และลดลง 11.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว เหลือ 10.01 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

นอกจากนี้ วันที่ 27 ส.ค. 67 ประธานาธิบดียูเครน นาย Volodymyr Zelenskiy เตรียมเสนอแผนต่อประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ นาย Joe Biden และผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยถัดไป ได้แก่ นาง Kamala Harris และนาย Donald Trump เพื่อยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยมีแผนให้ทหารยูเครนขยายพื้นที่ยึดครองดินแดนในแคว้น Kursk ของรัสเซียเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองและบีบให้รัสเซียยอมเจรจายุติสงคราม 

อีกทั้ง สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 23 ส.ค. 67 ปรับตัวลดลง 846,000 บาร์เรล สู่ระดับ 425.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.3 ล้านบาร์เรล