มติ กบง.เพิ่มเกรดดีเซลสู่ บี7,บี10 และบี20 เริ่ม 10 ต.ค.นี้

ผู้ชมทั้งหมด 905 

กบง.ไฟเขียว ปรับสูตรไบโอดีเซลกลับสู่เกรดเดิม บี7,บี10 และบี20 มีผล 10 ต.ค.-31 ธ.ค.65 พยุงราคาปาล์ม พร้อมปรับร่างแผนพีดีพี 2022 เน้นความมั่นคง ต้นทุนเหมาะสม คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวานนี้ (27 กันยายน 2565) โดยระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและสถานการณ์ปาล์มน้ำมันอย่างใกล้ชิด ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2565 ที่เดิมกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันในน้ำมันกลุ่มดีเซลหมุนเร็วให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสม ดังนี้ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 7 โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 10 โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.6 และไม่สูงกว่าร้อยละ 20 โดยปริมาตร ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 และได้มอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ ธพ. เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. 2565 ให้สอดคล้องกับการกำหนดสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลใหม่ดังกล่าว

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต รวมถึงทิศทางของโลกและประเทศไทยที่มุ่งไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงาน และสนับสนุนการใช้พลังสะอาดมากขึ้น จึงควรต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของแผนปฏิรูปด้านพลังงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน รวมถึงสอดคล้องกับนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานของกระทรวงพลังงานหรือของประเทศไทย (Carbon Neutrality) และกรอบแผนพลังงานชาติ

ที่ประชุม กบง. มีมติเห็นชอบ ค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าระยะยาวสำหรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2565 – 2580 (PDP2022) และรับทราบร่างแผน PDP2022 กรณีฐาน (Base Case) ที่คำนึงถึงการใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นกรณีเริ่มต้นสำหรับนำไปใช้จัดทำร่างแผนกรณีอื่นๆ โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการจัดทำร่างแผนกรณีต่างๆ ตามข้อเสนอแนะของ กบง. และคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ แล้วนำมาเสนอ กบง. พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ จะพิจารณาร่างแผนกรณีที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดมาเป็นร่างแผน PDP2022 สำหรับประกาศใช้จริงต่อไป

โดยแผน PDP2022 ฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้ 1. เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ (Security) เพื่อให้มีความมั่นคงครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่ คำนึงถึงผู้ใช้ไฟฟ้านอกระบบ (IPS) รวมถึง Disruptive Technology เพื่อให้ระบบผลิตไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับ Energy Transition 2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) อัตราค่าไฟฟ้ามีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงประชาชนไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว และ 3.ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology) จำกัดปริมาณการปลดปล่อย CO2 ให้สอดคล้องตามเป้าหมายแผนพลังงานชาติ และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวของประเทศ (LTS) ตามนโยบาย Carbon neutrality และ Net zero emission

อีกทั้ง ที่ประชุม กบง. ได้มีมติเห็นชอบนิยามกรอบระยะเวลาของสัญญา LNG และหลักเกณฑ์ราคานำเข้า LNG ด้วยสัญญาระยะสั้น สำหรับกลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulated Market) ซึ่งจะมีการจัดหา LNG ด้วยสัญญาที่มีระยะเวลาต่ำกว่า 5 ปี โดยราคานำเข้า LNG จะต้องอ้างอิงกับราคา JKM adjusted by freight cost หรือราคาอ้างอิง Gas Link หรือ Oil Link หรือ Hybrid ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ทั้งนี้ ประมาณการมูลค่านำเข้า LNG ด้วยราคาอ้างอิงที่เสนอโดยรวมตลอดอายุสัญญา จะต้องไม่เกินประมาณการมูลค่านำเข้าด้วยราคา JKM adjust by freight cost โดยมอบหมายให้ กกพ. เป็นผู้กำกับดูแลและพิจารณาความคุ้มค่าที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวมต่อไป