“พลังงาน” ลุ้น ครม.18 เม.ย.นี้ ต่ออายุมาตรการลดภาษีดีเซลหรือไม่

ผู้ชมทั้งหมด 625 

“ก.พลังงาน” จับตา ครม. 18 เม.ย.นี้ ยืดอายุมาตรการลดภาษีดีเซลต่อหรือไม่ หลังสิ้นสุด 19 เม.ย.นี้ จ่อปล่อยขึ้นราคาขายปลีกหากไม่ลดภาษี หวั่นกองทุนน้ำมันฯขาดสภาพคล่อง เหตุต้องเตรียมจ่ายหนี้เงินกู้ล็อตแรกเดือนพ.ย.นี้  

มาตรการ “ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 1 บาทต่อลิตร” กำลังจะสิ้นสุดอายุลงในวันที่ 19 เม.ย.นี้ หลังจากได้ใช้มาตรการฯ ตั้งแต่ 20 ม.ค. – 19 เม.ย. 2567 ขณะที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ได้เข้ามาแบกรับภาระอุดหนุนราคาดีเซล ปัจจุบันอยู่ที่ 4.77 บาทต่อลิตร หรือ มีภาระเดือนละประมาณ 9,800 ล้านบาท

โดยล่าสุด สถานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 14 เม.ย. 2567 ติดลบรวม 103,620 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบรวม 56,407 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม 47,213 ล้านบาท  

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงาน ยังติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ว่า ทางกระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการภาษีฯดีเซลอย่างไร ซึ่งกระทรวงพลังงาน ได้ประเมินแนวทางรับมือไว้ 3 กรณี ดังนี้  

กรณีที่ 1. หากกระทรวงการคลังไม่ลดภาษีดีเซลเลย

กรณีที่ 2. กระทรวงการคลังต่ออายุการลดภาษีดีเซล 1 บาทต่อลิตรเหมือนเดิม

และกรณีที่ 3 กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซลให้มากกว่า 1 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ หากครม.เห็นชอบตามกรณีที่ 1 หรือ กรณีที่ 2 ทางกองทุนฯ ก็จะส่งผลให้ ราคาขายปลีกดีเซลปรับเพิ่มขึ้น50 สตางค์ ถึง 1 บาทต่อลิตร ในทันที เพื่อรักษาสภาพคล่องของกองทุนฯ แต่หาก ครม.เห็นชอบตามกรณีที่ 3 ก็อาจช่วยยืดอายุการปรับขึ้นราคาจำหน่ายดีเซลได้บ้าง

ดังนั้น กระทรวงพลังงาน ยังต้องรอความชัดเจนจากมติ ครม. ก่อนวางแนวทางแก้ไขปัญหากองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากกองทุนฯ มีภาระ ต้องจ่ายหนี้เงินต้นสถาบันการเงินก้อนแรกที่ยืมมา 3 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน พ.ย. นี้ ฉะนั้น กองทุนฯ จะต้องเริ่มมีเงินไหลเข้ารายวันเป็นบวกอย่างน้อย 1 บาทต่อลิตร หรือ 69 ล้านบาทต่อวัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นไป ถึงจะเพียงพอจ่ายเงินต้นได้ 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กองทุนฯ ยังมีรายรับจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-น้ำมันแก๊สโซฮอล์ และมีรายจ่ายจากการชดเชยดีเซล 219.38 ล้านบาทต่อวัน และชดเชยราคา LPG อยู่ที่ 3.19 ล้านบาทต่อวัน ส่งผลให้เงินรายวันของกองทุนฯ ไหลออกวันละ  223 ล้านบาท หรือประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อเดือน