ผู้ชมทั้งหมด 609
ที่ประชุมผู้ถือหุ้น PTTEP ไฟเขียว จ่ายเงินปันผลฯปี66 ส่วนที่เหลือ 5.25 บาทต่อหุ้น กำหนดจ่าย 22 เม.ย.นี้ ลั่นต้นปีนี้ เตรียมกลับเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างโครงการโมซัมบิกฯ ช่วงต้นปี67 ดันผลิตLNG ล็อตแรกปี71 เผยเหตุขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ ยังไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในตะวันออกกลาง
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ในวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 โดยระบุว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นฯ ยังเห็นชอบพิจารณานำผลการดำเนินงานจากปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิ 2,208 ล้านบาท นำมาจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานประจำปี 2566 โดยอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล และ อนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท ซึ่ง ปตท.สผ. ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 2566 ไปแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2566 ในอัตราหุ้นละ 4.25 บาท (จากกำไร สะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียม)
โดยจะจ่ายเงินปันผลส่วนที่เหลือของปี 2566 ในอัตราหุ้นละ 5.25 บาท ซึ่งเป็นการจ่ายจากกำไร สะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรที่เสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมทั้งจำนวนให้แก่ผู้ถือหุ้น ที่มีสิทธิได้รับเงินปันผลตามที่ปรากฏรายชื่อ ณ วันกำหนดสิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 และกำหนดจ่ายเงินปันผล ในวันที่ 22 เมษายน 2567 โดยจะจ่ายเมื่อได้รับอนุมัติจากที่ประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจำปี 2567
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบผลการดำเนินงาน ประจำปี2566 และแผนงานประจำปี 2567 ซึ่ง ปตท.สผ.ได้ผลักดันการดำเนินงานผ่าน 3 กลยุทธ์หลัง คือ การขับเคลื่อนและเพิ่มมูลค่าธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Drive Value) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) และการเติบโตในธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Diversify) ดังนี้
โดยในส่วนของ Drive Value ปตท.สผ.ได้โฟกัสการลงทุนใน 4 พื้นที่หลัก ได้แก่ ประเทศไทย ได้มุ่งเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการหลัก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศ สำหรับ โครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ, ปลาทอง, สตูล และฟูนาน) ให้มีกำลังการผลิตแตะ 800 ล้านลูกบากศ์ฟุตต่อวัน ภายในวันที่ 1 เม.ย.2567 ตามเงื่อนไขสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ซึ่งปตท.สผ.สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567 เป็นต้นมา และยังต้องรักษาอัตราการผลิตให้ต่อเนื่องอีก 90 วัน
อีกทั้งเร่งรัดการผลิตจากโครงการอื่นๆ เช่น โครงการจี 2/61 (แหล่งบงกช) โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 ให้เกิดการผลิตที่ต่อเนื่อง เพื่อรักษาความั่นคงของประเทศ ตลอดจนมีการนำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปดำเนินการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานที่มากขึ้น
ส่วนประเทศเมียนมา ปตท.สผ. ยังมุ่งมั่นรักษากำลังการผลิตในโครงการซอติกา และยาดานา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการผลิต และในประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการค้นผลแหล่งน้ำมันและก๊าซฯธรรมชาตินั้น ก็มีแผนจะเร่งพัฒนาโครงการ เพื่อให้ได้กำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น
และในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปตท.สผ. เตรียมกลับเข้าไปดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในช่วงต้นปี2567 เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571 โดยปัจจุบันโครงการดังกล่าวมีสัญญาซื้อขาย LNG ราว 13 ล้านตัน
ส่วนของ Decarbonization ปตท.สผ. ยังมีแผนการดำเนินกิจกรรมซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ด้วยการบริหารจัดการการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มีคาร์บอนต่ำ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต เช่น การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ซึ่งจะเริ่มนำร่องโครงการในแหล่งอาทิตย์ และในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย คาดว่า ตั้งแต่ เม.ย.2567 จะมีความคืบหน้าโครงการเกิดขึ้น
และส่วนของ Diversify ปตท.สผ.มองหาโอกาสการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ผ่านบริษัทลูก ARV การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนนอกชายฝั่ง (Offshore Renewables) ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น อนุมัติแต่งตั้งกรรมการ 5 คน แทนกรรมการที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งและลาออก ดังนี้
1.นายไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัย ดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระหนึ่ง
2. นายธงทิศ ฉายากุล เข้าดำรงตำแหน่งแทน นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์
3.นายพงศธร ทวีสิน เข้าดำรงตำแหน่งแทน นางอังครัตน์ เพรียบจริยวัฒน์
4. นางณัฐฏ์จารี อนันตศิลป์ ดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระหนึ่ง
และ5. พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน ดำรงตำแหน่งแทน พลเรือเอก ธนะรัตน์ อุบล ที่ได้ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ ปตท.สผ.
นายมนตรี กล่าวว่า การพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา(OCA) นั้น ปัจจุบัน ปตท.สผ. มีการลงทุนในโครงการ G1/61 ซึ่งติดกับพื้นที่ OCA ออกไปในฝั่งตะวันออก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่เคยมีการสำรวจที่ชัดเจน แต่หากพิจารณาจากโครงสร้างทางธรณีวิทยา เชื่อว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียม
ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในพื้นที่ตะวันออกกลางของบริษัท ที่ปัจจุบัน มาการเข้าไปลงทุนใน 2 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) เป็นโครงการที่อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาแหล่งก๊าซฯ และโอมาน เป็นโครงการที่มีทั้งการผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งทั้ง 2 โครงการ ปตท.สผ.เป็นผู้ร่วมลงทุน และตั้งอยู่คนละพื้นที่กับพื้นที่มีความขัดแย้งกัน จึงยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อโครงการลงทุน แต่ในแย่ของความต้องการใช้ปิโตรเลียมอาจมีผลกระทบจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นบ้าง ซึ่งก็ต้องติดตามสถานการณ์ในอนาคตต่อไป