ผู้ชมทั้งหมด 1,087
ปตท.เตรียมประกาศเป้าหมาย Net Zero ให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ คาดชัดเจนในปีนี้ หวังมีส่วนร่วมลดปล่อยคาร์บอน ลุยปรับพอร์ตลงทุนสู่พลังงานสะอาด พร้อมตั้งเป้าขายทิ้งธุรกิจถ่านหินทั้งหมดในปีนี้ ดันเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แตะ 1.2 หมื่นเมกะวัตต์ ภายในปี 2573
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวเสวนาหัวข้อ “สิ่งแวดล้อมยุคใหม่เติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจ” ในการจัดงาน “ถามมา – ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” (Better Thailand Open Dialogue) โดยระบุว่า ปตท.ได้จัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ กลุ่ม ปตท. (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อวางเป้าหมายบรรลุ Net Zero ของ ปตท. และร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะดำเนินการให้เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศที่กำหนดไว้ในปี ค.ศ.2065 แต่จะเป็นปีใดนั้น คาดว่าจะประกาศความชัดเจนได้ภายในปีนี้ โดยเบื้องต้น ได้กำหนดแผนงานเพื่อไปสู่ป้าหมายดังกล่าว ด้วยการทำงาน 3 ด้านหลัก (3P’s Decarbonization Pathways) ได้แก่
Pursuit of Lower Emission ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด เชื่อมโยง กับเป้าหมาย Clean growth โดยโครงการที่สำคัญในการบริหารจัดการ ได้แก่ การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์ การใช้พลังงานหมุนเวียนและ พลังงานไฮโดรเจน การดำเนินโครงการประหยัดและอนุรักษ์พลังงาน และการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยคาร์บอนเครดิต ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการศึกษาในหลายโครงการ
Portfolio Transformation สร้างการเติบโตจากธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy and Beyond) โดยจะลดสัดส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินตั้งเป้าหมายจะขายทิ้งหมดภายในปี 2565 ส่วนโรงกลั่นน้ำมันจะไม่ขยายเพิ่มแต่จะพัฒนาประสิทธิภาพให้ดีขึ้น เช่น การทำเรื่องมาตรฐานยูโร 5 ขณะที่ก๊าซฯ ยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในช่วงการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดที่ยังเติบโตได้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ขณะเดียวกันตั้งเป้าหมายจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แตะ 12,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งบริษัท อรุณ พลัส เพื่อลงทุนในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง แบตเตอรี่ แพลตฟอร์ตผลิตรถอีวี แอพพลิเคชั่น EVme ให้เช่ารถอีวี เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้รถยนต์อีวีในประเทศ โดยการปรับพอร์ตการลงทุนนั้น ปตท.ตั้งงบประมาณลงทุน 20% ภายในปี 2573 เพื่อให้สำหรับรองรับการลงทุนใน Future Energy and Green Business
Partnership with Nature การเพิ่มปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ และกักเก็บก๊าซเรือนกระจกด้วยวิธีทางธรรมชาติ ผ่านการปลูกและ ดูแลรักษาป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยกำหนดเป้าหมายการปลูกป่าบก และป่าชายเลนเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 พร้อมวางแผนในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวนั้น จำเนต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของนวัตกรรมใน 4 เรื่องหลัก คือ 1.product Innovation 2. Process Innovation ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ สำคัญมากจะช่วยเรื่องการออก product ที่ดี ซึ่งกลุ่ม ปตท.ก็มีการจัดตั้งโรงไบโอคอมเพล็กซ์ ที่นครสวรรค์ และโรงงานรีไซเคิล ที่ใกล้จะแล้วเสร็จ และการก่อสร้างโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่7 ที่จะนำความเย็นเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรก๊าซLNG ไปใช้ประโยชน์ 3. Business Innovation 4.Social Innovation เข้ามาพัฒนาสังคม