ผู้ชมทั้งหมด 3,837
ปตท.สผ. ลงนาม MOU กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัยทางวิชาการ ทั้งด้านธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม และสร้างบุคลากรด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ต่อยอดองค์ความรู้สู่เทคโนโลยี CCS ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายสังคมคาร์บอนต่ำ
ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีเป้าหมายจะขยายความร่วมมือดังกล่าวไปยังมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ต่อไป
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ปตท.สผ. ได้ริเริ่มโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect ซึ่งเป็นความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย เพื่อศึกษา พัฒนางานวิจัย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ธรณีศาสตร์ วิศวกรรมปิโตรเลียม เป็นต้น เนื่องจากปิโตรเลียมยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักที่มีความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ขณะเดียวกัน องค์ความรู้ในด้านธรณีศาสตร์ ทั้งธรณีวิทยาและธรณีฟิสิกส์ สามารถนำมาใช้ในการพัฒนากระบวนการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS (Carbon Capture and Storage) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการนำมาใช้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในการลดปัญหาภาวะโลกร้อน
ล่าสุด ปตท.สผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MoU) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้ความร่วมมือในโครงการ PTTEP Subsurface University Energy Connect โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยที่เกี่ยวข้องกับงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยี CCS ร่วมกัน
“สถาบันการศึกษา เป็นอีกภาคส่วนสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการพัฒนาการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ความร่วมมือระหว่าง ปตท.สผ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการผลิตและพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในด้านธรณีศาสตร์และวิศวกรรมปิโตรเลียม ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งเป็นการสนับสนุนประเทศไทยทั้งด้านการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอีกด้วย”
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีพันธกิจมุ่งผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกไปเป็นผู้นำแห่งอนาคต ตลอดจนสร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาจุฬาฯ ได้รับการสนับสนุนด้านทุนวิจัยและการพัฒนาหลักสูตรทางด้านปิโตรเลียมจาก ปตท.สผ. ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพทางด้านงานวิจัย วิชาการของจุฬาฯ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวหน้า
“หวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยต่อยอดงานวิจัยและความร่วมมือทางวิชาการระหว่างทั้งสององค์กร รวมไปถึงการเพิ่มองค์ความรู้ใหม่ทางด้านงานธรณีศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะมีส่วนร่วมผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่สังคมที่มีความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อม”