ผู้ชมทั้งหมด 1,274
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ร่วมกับ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดค่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Power Green Camp) ครั้งที่ 16 ภายใต้หัวข้อ “ECO Living & Learning – เปลี่ยนปรับสู่กรีนไลฟ์สไตล์ ตอบรับ New Normal” คัดเลือกเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไม่จำกัดสาขาวิชา (เป็นครั้งแรก) จำนวน 40 คน จาก 40 โรงเรียน 31 จังหวัด จากผู้สมัครทั่วประเทศ 217 คน มาร่วมเปิดประสบการณ์การเข้าค่ายในรูปแบบออนไลน์เป็นครั้งแรก สอดรับกับวิถีการเรียนรู้แบบ New Normal ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม ถึง 21 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับ ค่ายเพาเวอร์กรีน ครั้งที่ 16 ในปีนี้ เยาวชนทั้ง 40 คนได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเข้มข้นผ่านช่องทางออนไลน์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ตลอดระยะเวลากว่า 2 เดือน ประกอบด้วย กิจกรรม Transformative Learning เพื่อฝึกฝนเรื่อง Soft Skills ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การคิด วิเคราะห์ และแก้ปัญหา การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในส่วนของภาคปฏิบัติ ทางค่ายฯ ได้จัดส่งชุดการทดลองที่ได้มาตรฐาน สามารถนำไปใช้งานได้จริงในครัวเรือน จำนวน 3 ชุดการทดลอง มูลค่ารวมคนละ 10,000 บาท ไปให้ชาวค่ายทุกคนถึงบ้านแบบไม่มีค่าใช้จ่าย ได้แก่ ชุด “ดักต่อไม่รอแล้วนะ” การประดิษฐ์ถังดักไขมันเพื่อใช้ในครัวเรือน ชุด “Food Waste Transformation“ การเปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยอินทรีย์ และชุด “มีอยู่จริงหรือเปล่า….?” การสำรวจองค์ประกอบและคุณสมบัติของดินในบ้าน
นายรัฐพล สุคันธี ผู้อำนวยการสาย – สื่อสารองค์กร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้เราให้ความสำคัญกับประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับวิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป เราจึงเน้นให้เยาวชนได้ฝึกทักษะผ่านการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ กระตุ้นให้พวกเขาคิดเป็น ทำเป็น มีเหตุมีผล รู้จักการวิเคราะห์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และมองเห็นถึงความสำคัญและหวงแหนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยมุ่งหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะมีบทบาทในฐานะผู้นำและตัวกลางในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่ได้รับไปต่อยอด รวมถึงส่งต่อความรู้ไปยังครอบครัว คนใกล้ชิด โรงเรียน ชุมชน และสังคม ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์และการปรับตัวเพื่ออยู่อาศัยร่วมกันกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
สำหรับกิจกรรมพิเศษในปีนี้ เยาวชนทั้ง 40 คน ยังรับความรู้ผ่านกิจกรรม “Eco-living Talk” ที่ชวน คุณรัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย หรือ แพท วง Klear ศิลปินที่มีงานอดิเรกเป็นชาวสวนออร์แกนิก มาร่วมแบ่งปันวิธีการดำรงชีวิตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างมีความสุข และคุณสมโภช รวมสิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน Smart City จากบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบ้านปู มาร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีมาเชื่อมโยงกับไลฟ์สไตล์ให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยกิจกรรมพิเศษในครั้งนี้ถือเป็นการเต็มเติมความรู้ให้กับเยาวชนในค่ายให้เห็นถึงแนวทางการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ด้วยวิถีชีวิตใหม่ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลไปจนถึงระดับชุมชน
สำหรับโครงงานฯ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 50,000 บาท ได้แก่ ทีม EVIF กับโครงงานฯ “Can’t wait” ที่มาพร้อมกับแนวคิดการสร้างผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจาก “ชานอ้อย” เช่น น้ำยาย้อมสีผม มาร์คบำรุงผิวหน้า ลิปปาล์ม ซึ่งนอกจากจะยกระดับผลผลิตทางการเกษตร ลดปัญหาการเผาทำลายใบอ้อยที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ด้วยส่วนผสมจากธรรมชาติที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย
ผิงผิง-วชิรญาณ์ คงปลอด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรีทุ่งสง ตัวแทนทีมชนะเลิศ กล่าวถึง รางวัลชนะเลิศจากการประกวดโครงงานกลุ่มวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการเข้าร่วมกิจกรรมค่ายเพาเวอร์กรีน เป็นการทำโครงงานฯ ที่ไม่งายเลย เนื่องจากเป็นการทำงานกลุ่มในรูปแบบออนไลน์ แต่พวกเราทุกคนก็พยายามและตั้งใจกันมากเพื่อให้งานชิ้นนี้ออกมาดีที่สุด
“การเข้าร่วมค่ายเพาเวอร์กรีนในครั้งนี้ ทำให้หนูและเพื่อน ๆ ได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ มากมาย โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคนมาก ๆ ทำให้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้เป็นอย่างไร และเราจะมีส่วนช่วยในการดูแลสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เมื่อเราเริ่มต้นจากตัวเองได้แล้ว ก็ยังสามารถนำสิ่งที่ได้รับจากค่ายไปบอกเล่าและเป็นกระบอกเสียงต่อไป เพื่อให้คนอื่นได้รู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน”
นอกจากนี้ยังมีรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รับทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แก่ ทีม Miracle Rhizome กับโครงงานฯ “เหง้ามัน HPL” ที่มีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลัง มาใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้ เพื่อลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รับทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แก่ ทีม BEVA กับโครงงานฯ “Adiós plástico – บ๊ายบายนะ น้อนพลาสติก” ที่มีแนวคิดในการนำเหง้ามันสำปะหลัง มาผลิตเป็นกล่องสำหรับขนส่งต้นไม้ มุ่งลดปริมาณการใช้พลาสติกที่ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายยาวนาน นอกจากนี้ยังมี “ทีมขวัญใจมหาชน (Popular Vote)” จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท ได้แก่ทีม SETZERO กับโครงงาน “SETZERO-33” ที่มีแนวคิดในการนำซิลิกาจากแกลบมาปรับปรุงคุณภาพน้ำ และรางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล รางวัลละ 6,000 บาท