บีทีเอส กรุ๊ปฯ สยายปีกเครือข่าย MOVE

ผู้ชมทั้งหมด 733 

บีทีเอส กรุ๊ปฯ สยายปีกเครือข่าย MOVE ผ่านการลงนามในสัญญาการร่วมลงทุน โปรเจกต์ทางหลวงระหว่างเมือง M6 และ M81 กับกรมทางหลวง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้ขยายขอบเขตธุรกิจ MOVE นอกเหนือจากระบบขนส่งทางราง ด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรจัดตั้ง “กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR” โดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น 40%), บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น 40%), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STECON) (ถือหุ้น10%), และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ถือหุ้น10%) ลงนามร่วมกับกรมทางหลวง ภายใต้ “สัญญาการให้เอกชนร่วมลงทุนในการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่-กาญ – กาญจนบุรี (M81)” อายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE กล่าวว่า “การลงนามสัญญาในครั้งนี้ ถือเป็นโครงการความร่วมมือภาครัฐ และภาคเอกชน (PPP) แรกของประเทศไทย ในโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ และจะดำเนินการเข้าพื้นที่เพื่อก่อสร้างงานระบบภายในปีนี้ โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะได้รายได้จากค่าจ้างดำเนินงาน และค่าลงทุนก่อสร้างโครงการวงเงินรวมประมาณ 39 พันล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา วงเงิน 21.3 พันล้านบาท และรายได้จากมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี วงเงิน 17.8 พันล้านบาท ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี”

โดยทั้งสองเส้นทางจะเปิดให้ประชาชนทดลองวิ่งตั้งแต่เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566 และจะเปิดให้บริการเป็นทางการแบบเก็บค่าผ่านทางในช่วงต้นปี 2567 ส่วนรายละเอียดของสัญญาจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

โดย ระยะที่ 1 ช่วงไม่เกิน 3 ปี กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะเป็นผู้ออกแบบและลงทุนก่อสร้างติดตั้งงานระบบ และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ทั้งการก่อสร้างด่าน และติดตั้งระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น หรือ Free Flow ระบบควบคุมและบริหารจัดการจราจรอัจฉริยะ ระบบโครงข่ายสื่อสารใยแก้วนำแสง และระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าบนสายทาง อาคารศูนย์ควบคุม และอาคารสำนักงานต่างๆ

ระยะที่ 2 เมื่อเส้นทางเปิดให้บริการ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR จะทำหน้าที่ซ่อมบำรุงรักษาถนน และดูแลงานระบบทั้งหมดของโครงการ ซึ่งรวมถึงงานกู้ภัย และช่วยเหลือผู้ใช้ทางตลอด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 30 ปีหลังเปิดให้บริการ

“การลงนามในสัญญาครั้งนี้ นับเป็นอีกก้าวสำคัญของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ที่ได้ขยายขอบเขตธุรกิจ นอกเหนือจากระบบขนส่งทางราง ให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ MOVE เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ สอดรับกับพฤติกรรมของประชาชนในยุคดิจิทัล ช่วยลดการสัมผัสระหว่างบุคคลตามแนวทางการปฏิบัติของยุค New Normal ผ่านการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น และทั้ง 2 เส้นทางยังเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคม ฐานการผลิตและส่งออกพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่โซนภาคตะวันตก และภาคใต้ รองรับแผนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐบาล” นายสุรพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้เครือข่ายธุรกิจ MOVE ของบีทีเอส กรุ๊ปฯ ให้ความสำคัญต่อการคมนาคมขนส่งผู้โดยสาร ทั้งทางราง ทางถนน และทางน้ำ ซึ่งมีทั้งรถไฟฟ้า, เรือด่วนเจ้าพระยา, รถโดยสารด่วนพิเศษบีอาร์ที สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินโครงการ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) โดยธุรกิจเหล่านี้สามารถนำไปต่อยอดด้วยการหาพันธมิตรใหม่ ผ่านกลยุทธ์ MATCH ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าของบีทีเอส กรุ๊ปฯ และสร้างโอกาสการเจริญเติบโตได้ในอนาคต