บางจากฯ ร่วมกับจ.เชียงรายแก้ปัญหาสับปะรดภูแลล้นตลาด

ผู้ชมทั้งหมด 1,103 

บางจากฯ ร่วมกับจังหวัดเชียงราย และภาคประชาสังคมปล่อยขบวนรถโครงการ “สับปะรดปันสุข” แก้ปัญหาสับปะรดภูแลล้นตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ที่ห้องประชุมอูหลง ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการแถลงข่าว ความร่วมมือช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแล ภายใต้โครงการ “สับปะรดปันสุข” และเปิดขบวนรถขนส่งสับปะรดเพื่อส่งมอบให้กับโรงพยาบาลสนามและเรือนจำในกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ภาคกลางและภาคเหนือ

โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากการประสานงานของพาณิชย์จังหวัดเชียงรายและบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงราย (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากวิกฤติสถานการณ์โรคโควิด-19 ของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแล ซึ่งเจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้งได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์มายังผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายให้ช่วยเหลือเนื่องจากไม่สามารถส่งผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดภาวะสับปะรดล้นตลาด 

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัท บางจากฯ มีวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งพัฒนานวัตกรรมธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยบริษัทฯ มีแนวทางช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรไทยด้วยการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรมาใช้เป็นสินค้าส่งเสริมการขายผ่านทางสถานีบริการน้ำมันบางจากฯ อันเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นในการทำธุรกิจขององค์กรมากว่า 20 ปี

รวมถึงร่วมหาช่องทางจำหน่ายและระบายสินค้าตามความเหมาะสม โดยโครงการ “สับปะรดปันสุข – ป้องกันโรค ชวนบริโภควิตามิน” จะรับซื้อสับปะรดภูแลจากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งแบบสดและแบบแปรรูปจำนวน 43 ตัน จัดส่งให้กับเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม รวมถึงเรือนจำในกรุงเทพ ปริมณฑล ภาคกลาง และ 9 จังหวัดภาคเหนือ รวมกว่า 120 แห่ง

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวถึง โครงการ “สับปะรดปันสุข” ที่บริษัท บางจากฯ ช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่กำลังประสบปัญหาด้านตลาดรองรับผลผลิตจากสถานการณ์โควิด-19 ไปส่งมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย ในโรงพยาบาลสนาม และยังเผื่อแผ่ไปยังเรือนจำ เป็นมิติแห่งการมองปัญหาอย่างเป็นองค์รวม เป็นตัวอย่างทีดีที่องค์กรภาคธุรกิจ หน่วยงานภาคเอกชนและภาคประชาสังคมควรนำมาเป็นตัวอย่างในการทำ CSR หรือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่ไม่ได้มองปัญหาหรือการช่วยเหลือแต่เพียงด้านเดียว

นางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤติสถานการณ์โรคโควิด-19 ก่อให้เกิดปัญหาการตลาดของผลผลิตทางการเกษตร ทั้งสับปะรด ลิ้นจี่ สำใย กระท้อน ส้มโอขาวใหญ่ และเงาะ ซึ่งสำนักงานพาณิชย์จังหวัดมีโครงการเชื่อมโยงการจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบด้านการตลาดไปยังเครือข่ายพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแลในครั้งนี้ สืบเนื่องจากเจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง อำเภอเมืองเชียงราย ได้ทำหนังสือขอความอนุเคราะห์จากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เนื่องจากเกษตรกรไม่สามารถส่งผลผลิตออกนอกพื้นที่ได้

โดยได้ประสานความร่วมมือหน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบร่วมกันหาแนวทางช่วยเหลือโดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดและบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงราย (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด จัดหาเชื่อมโยงตลาด ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท บางจากฯ ในโครงการ “สับปะรดปันสุข” ช่วยคลี่คลายปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกร โดยวันนี้หลังการแถลงข่าวท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ทำพิธีเปิดขบวนรถจัดส่งสับปะรดไปยังพื้นที่เป้าหมาย

ดร.วิรุณ คำภิโล ประธานบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงราย (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด เน้นย้ำถึงการสานพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมที่ควรต้องมองภาพรวมของปัญหา อย่างเช่น การเกิดโครงการ “สับปะรดปันสุข” ที่บริษัท บางจากฯ ให้การสนับสนุนในครั้งนี้ จากการที่บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงราย มองเห็นปัญหาความทุกช์ยากของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแล ผู้ป่วย ผู้ดูแลผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ที่ต่างเสียสละในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลสนามและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

จึงได้ขอความร่วมมือเสนอแนวคิดไปยังบริษัท บางจากฯ ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านวัฒนธรรมองค์กรในการทำธุรกิจสีเขียวอย่างยั่งยืนและการทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม ตอบรับแนวคิดข้อเสนอของบริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงรายในทันที จึงเสนอให้มีการแถลงข่าวในวันนี้เพื่อเป็นการสื่อสารประชาสัมพันธ์และเป็นตัวอย่างให้กับภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคมและหน่วยงานต่างๆ ในการทำ CSR หรือ การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่แท้จริง