ผู้ชมทั้งหมด 1,349
บวท. ทุ่มงบกว่า 6 พันล้านบาท ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการบิน นำเทคโนโลยีมาตรฐานสากลหนุนไทยเป็นฮับการบินในภูมิภาค ทำเส้นทางบินคู่ขนาน ขยายเส้นทางการบิน เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ คาดปี 67 มีราย 1.2 หมื่นล้านบาท
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค และยังมีเป้าหมายในการพึ่งพาการท่องเที่ยวสูงถึง 30%ของจีดีพี ดังนั้น บวท.ในฐานะหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศของประเทศ จึงมีความพร้อมในการสนับสนุนผลักดันนโยบายของรัฐบาล
โดยวางแผน ดำเนินงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศ ซึ่งตั้งเป้าว่าภายใน 7 ปีจะเพิ่มเที่ยวบินจาก 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี (ในปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19) เป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่เป็นมาตรฐานสากลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการเที่ยวบินขาเข้า คือ ระบบ Arrival Manager (AMAN) และการจัดการเที่ยวบินขาออกด้วยระบบ Intelligent Departure (iDep) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ ในการควบคุมเที่ยวบินให้สามารถทำการบินได้ตรงเวลาตามตารางได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
นายณพศิษฏ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายเส้นทางการบิน เพื่อรองรับปริมาณเที่ยวบินให้มากขึ้น โดยเริ่มมีการจัดทำเส้นทางบินแบบคู่ขนาน (Parallel Routes) ประกอบด้วย ทางด้านเหนือ ไปยังสนามบิน เชียงใหม่ เชียงราย และเส้นทางบินแยกย่อยไปยังสนามบินต่างๆ ในภาคเหนือ รวมถึงขยายการเชื่อมต่อเส้นทางบินไปยังประเทศจีน เพื่อเชื่อมโยงไปยังเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของจีน เช่น คุนหมิง กุ้ยหยาง เฉิงตู เทียนฟู ฉงชิง ซีอาน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ผ่านทางประเทศลาว จาก 1 เส้นทางเป็น 2 เส้นทาง เมื่อแล้วเสร็จจะทำให้เที่ยวบินเพิ่มขึ้นจาก 1 แสนเที่ยวบินต่อปีเป็น 2 แสนเที่ยวบินต่อปี
ขณะที่ด้านตะวันออก ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศรองรับเที่ยวบินจากกัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ส่วนด้านใต้ ได้จัดทำเส้นทางบินคู่ขนานในประเทศรองรับเที่ยวบินไปยังสนามบิน ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี ตรัง และเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ รองรับเที่ยวบินจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และออสเตรเลีย และด้านตะวันตก อยู่ระหว่างจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานระหว่างประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินจากอินเดีย บังคลาเทศ และยุโรป
ทั้งนี้ การจัดทำเส้นทางบินคู่ขนานได้นำเทคโนโลยี Performance Based Navigation (PBN) ในการนำร่องแบบ RNAV2 ที่มีการกำหนด ทิศทางการบิน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการจราจรทางอากาศ ช่วยลดระยะทางการบิน ลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจรทางอากาศจากทุกทิศทาง
นายณพศิษฏ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของการให้บริการจราจรทางอากาศนั้น จะเน้นการบริหารจัดการ(Air Traffic Flow Management: ATFM) ที่ช่วยทำให้เกิดความสะดวก คล่องตัว ลดผลกระทบการล่าช้าของเที่ยวบินในช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรทางอากาศหนาแน่น โดยเรื่องเร่งด่วนที่จะทำในทันทีคือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานทางวิ่ง (High Intensity Runway Operation: HIRO) เพื่อช่วยรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานดอนเมืองจาก 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 57 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ท่าอากาศยานภูเก็ตจาก20 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 25 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รวมถึงจะเพิ่มเที่ยวบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) แต่รอความพร้อมในส่วนของรันเวย์ 3 ที่จะให้ทำได้ในเดือนก.ค.นี้ และจะให้บริการอย่างสมบูรณ์ประมาณเดือน มิ.ย.68 โดยบวท.เตรียมความพร้อมในการบริหารจัดการจราจรเที่ยวบินที่ ทสภ.จาก 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมงเป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ ทสภ. มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี
รวมทั้งยังมีแผนดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างห้วงอากาศ (Airspace) ของสนามบินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นการดำเนินงาน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภา กลุ่มที่ 2 สนามบินภูเก็ต สนามบินกระบี่ และสนามบินอันดามัน กลุ่มที่ 3 สนามบินเชียงใหม่ สนามบินลำปาง และสนามบินล้านนา คาดว่าจะใช้งบประมาณดำเนินการราว 6,000 ล้านบาท เพื่อทำให้โครงสร้างพื้นฐานการเดินอากาศของประเทศไทยมีศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ขณะเดียวกัน บวท.ยังมีแผนดำเนินการเพิ่มเที่ยวบินที่สนามบินอู่ตะเภา โดยใช้อาคารผู้โดยสารเดิมในการรองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี เป็น 5 ล้านคนต่อปีในปี 73
นายณพศิษฏ์ กล่าวด้วยว่า ในปี 66 บวท.มีเที่ยวบินประมาณ 8 แสน เที่ยวบินต่อปี และในปี 67 คาดว่าจะมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น9 แสนเที่ยวบินต่อปี และคาการณ์ว่าจะมีเที่ยวบินเป็น 1 ล้านเที่ยวบินต่อปีในปี 68 ซึ่งจะเทียบเท่าปีก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่รายได้ของ บวท.นั้นในปีก่อนโควิด-19 มีรายได้ประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท และในปี 66 มีรายได้ประมาณ 1หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่ารายจ่ายประมาณ 500 ล้านบาท ส่วนปี 67 คากการณ์ว่าจะมีรายได้ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท ส่วนปริมาณเที่ยวบินในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 67 นี้ คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 20% จากเที่ยวบินปกติที่มีประมาณ 2,300 เที่ยวบินต่อวัน เป็นประมาณ 2,500 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งน่าจะเท่ากับช่วงเดียวกันของปี 66